Phones





ยอดส่งออกเดือนก.พ.63 หดตัว4.47%

2020-03-23 17:35:58 319




นิวส คอนเน็คท์ - ส่งออกเดือน ก.พ.63 หดตัว 4.47% จากผลกระทบโควิด-19 ราคาน้ำมันลดลง ขณะที่การนำเข้า ลดลง 4.30% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 3,897 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลง “ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2563” โดยระบุว่า สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกชะงักลง กระทบต่อเศรษฐกิจและการส่งออกของหลายประเทศรวมถึงไทย แต่การส่งออกไทยในเดือน ก.พ.63 ยังทรงตัวได้ และมีมูลค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง (19,871 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยการส่งออกเดือน ก.พ.63 มีมูลค่า 20,642 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 4.47% จากราคาน้ำมันที่ลดลง และฐานสูงของอาวุธในการซ้อมรบในปีก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธ ยุทธปัจจัย การส่งออกของไทย ขยายตัว 1.51%
 
ทั้งนี้ มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือน ก.พ.63 เป็นการส่งออก มีมูลค่า 20,642 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 4.47% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 16,745 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 4.30% ส่งผลให้การค้าเกินดุล 3,897 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท เดือน ก.พ.63 มีมูลค่า 622,310 ล้านบาท หดตัว 8.51% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 512,083 ล้านบาท หดตัว 8.24% ส่งผลให้การค้า เกินดุล 110,226 ล้านบาท


สำหรับแนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2563 นั้น จากแรงกดดันจากสถานการณ์ไวรัส Covid-19 ชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกในระยะสั้น-กลาง และราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ยังเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกของไทย โดยมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ในหลายประเทศ อาทิ มาตรการปิดเมือง/พรมแดน อาจส่งผลกระทบด้าน supply chain ในอุตสาหกรรมส่งออกไทยอันเนื่องมาจากการขาดแคลนวัตถุดิบ ทั้งนี้ สถานการณ์การในจีนที่เริ่มคลี่คลายอาจบรรเทาผลกระทบลงได้บ้าง


อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยยังมีปัจจัยบวกจาก 1) จุดแข็งและศักยภาพไทยในอุตสาหกรรมเกษตรอาหารและสินค้าจำเป็น (Essential goods), 2) แนวโน้มการฟื้นตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ซึ่งมีสัดส่วนต่อการส่งออกรวมถึง 14%, 3) ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงกว่าช่วงก่อน, 4) หลายประเทศทั่วโลกต่างใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินและการคลังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจช่วยลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมและรักษาระดับการค้าโลกให้ทรงตัวต่อไปได้ อาทิ การบรรเทาปัญหาสภาพคล่องของภาคธุรกิจ การลดอัตราดอกเบี้ย การสนับสนุนรายได้และค่าใช้จ่ายเพื่อพยุงกำลังซื้อของภาคเอกชน


สำหรับการส่งเสริมการส่งออกปี 2563 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ให้ความสำคัญกับการส่งออกสินค้าผลไม้ เพื่อกระตุ้นการส่งออกพืชผลเศรษฐกิจท้องถิ่นในตลาดอาเซียน ความสำเร็จของการเชื่อมโยงการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form D) ผ่านระบบ ASEAN Single Window จะช่วยผลักดันการส่งออกสินค้าผลไม้ซึ่งมีศักยภาพสูงในอาเซียนได้ นอกจากนี้ ในสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงพาณิชย์มีการปรับกลยุทธ์โดยจะใช้วิธีจัดงานแสดงสินค้าในรูปแบบ Online Exhibition และ Online Business Matching นำร่องในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ในเดือน พ.ค.นี้ และจะขยายไปสู่สินค้าประเภทอื่นๆ ต่อไป ตั้งแต่เดือน พ.ค.ถึง ส.ค.2563

>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews