Phones





เมื่อ "ทหารไทย" ควบ "ธนชาต"

2019-08-15 08:42:03 478




อีกหนึ่งมหากาพท์ที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปี กับความชัดเจนของ “TMB” หรือธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หลังมีกระแสข่าวลือมาหลายต่อหลายครั้งว่า “กระทรวงการคลัง” ในฐานะผู้ถือใหญ่ ได้พยายามเร่ขายหุ้นที่ถืออยู่ใน TMB ออกไปให้กับกลุ่มทุนต่างชาติรายอื่น หรือจะเป็น “กลุ่ม ING” ที่ต้องการขายหุ้นทิ้งเพื่อหอบเงินกลับประเทศ รวมถึงข่าวลือว่าจะมีสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ในเอเชียต้องการเข้าเทคโอเวอร์ TMB


อย่างไรก็ตาม ความชัดเจนเกี่ยวกับอนาคตของ TMB ได้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือน ก.พ.62 หลังจากได้มีการลงนาม MOU เพื่อรวมกิจการกับ TBANK หรือธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของทุนธนชาต หรือ TCAP


จนมาถึงเมื่อสัปดาห์ก่อน ที่เหล่าบรรดาผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงการคลัง, TMB, TCAP, ING และสโกเทียแบงก์ ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวพร้อมเดินหน้าการควบรวมกิจการ ซึ่งกว่าจะดำเนินการรวมกิจการเสร็จสิ้นจะลากยาวไปถึงกลางปี 62



สรุปคร่าวๆ ว่า ภายหลังจากการรวมกิจการระหว่าง TMB กับ TBANK เสร็จเรียบร้อยราวกลางปี 64 จะก่อให้เกิดแบงก์พาณิชย์แห่งใหม่ขึ้นมาหนึ่งแห่ง ตามที่ผู้บริหารของทั้งสองธนาคารกล่าวไว้ว่า A + B = C แต่ตอนนี้ยังไม่ได้คิดว่าเจ้าแบงก์แห่งใหม่จะตั้งชื่อว่าอะไร


ส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้น เบื้องต้นกระทรวงการคลังยังขอร่วมวงไพบูลย์ด้วยสัดส่วน 18.4% แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่จะเป็น ING ด้วยสัดส่วน 21.3% รองลงมาคือ TCAP ถือหุ้น 20.4% ขณะที่สโกเทียแบงก์จะเจียดเงินมาถือหุ้นราว 5.6% และอีก 34.3% จะเป็นรายย่อย


ส่วนรายละเอียดขั้นตอนการรวมกิจการ น่าจะมีข่าวจากหลายสำนักนำเสนอไปพอสมควรแล้ว วันนี้เราจะลองมาดูกันว่าหลังจากการรวมกิจการระหว่าง TMB กับ TBANK จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แน่นอนเลยว่า "เรื่องแรก" ที่จะเห็นคือ มูลค่าของสินทรัพย์รวมที่เมื่อรวมกันแล้วก็จะเพิ่มขึ้นเฉียดระดับ 2 ล้านล้านบาท แต่ยังไม่สามารถขึ้นติด Top 5 เพราะเป็นรองอันดับ 5 อย่าง BAY ที่มีมูลค่ากว่า 2.2 ล้านล้านบาท ส่วนฐานลูกค้าเมื่อรวมกันแล้ว จะเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านราย ซึ่งมีการทับซ้อนของกลุ่มลูกค้าอยู่ไม่ถึง 10% ตรงนี้ทางผู้บริหารทั้งสองฝั่งมองว่า จะช่วยในเรื่องการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน


แต่ประเด็นสำคัญของการรวมกิจการ นอกจากเรื่องขนาดสินทรัพย์ที่ใหญ่ขึ้นแล้ว ทางผู้บริหารทั้งสองฝั่งยังเคลมว่า จะได้ประโยชน์จากการรวมกิจการคิดเป็นตัวเลขก็ราวๆ 30,000 – 40,0000 ล้านบาท โดยเรื่องแรกจะมาจากต้นทุนเงินฝากที่จะลดลง เนื่องจากจะมีบัญชีเงินฝาก CASA เพิ่มมากขึ้น รวมถึงผลตอบแทนที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากโครงร้างสินเชื่อที่เปลี่ยนไป ซึ่งสองเรื่องนี้ คิดเป็น 6% ของมูลค่าของประโยชน์ 30,000 -40,000 ล้านบาท



ขณะที่ภายหลังจากการรวมกิจการแล้ว จะมีการปรับโครงสร้างสาขาที่มีการทับซ้อนกันอยู่ การปรับโครงสร้างการใช้จ่ายด้านไอที และค่าใช้จ่ายด้านการตลาด ทั้งหมดนี้จะคิดเป็น 47% ของมูลค่าประโยชน์ที่จะได้รับ ส่วนอีก 47% จะมาจากโอกาสในการขายผลิตภัณฑ์ไปยังฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น และค่าใช้จ่ายในการโอนย้ายลูกค้า


ส่วนเรื่องสำคัญที่คนนอกอาจไม่อยากรู้ แต่พนักงานทั้ง TMB และ TBANK นั่งฟังอย่างตั้งใจคือ "การปลดพนักงานจะเกิดขึ้นหรือไม่" ก็พนักงานจากฝั่ง TMB มีกว่า 8,000 คน ส่วน TBANK ปาเข้าไปตั้งกว่า 10,000 คน ซึ่งผู้บริหารอย่าง “ประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ” ยืนยันว่า "ไม่ความคิดที่จะลดพนักงาน" เพราะงานที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ต้องใช้คนเยอะมาก ซึ่งคนที่มีอยู่ตอนนี้ยังน้อยกว่า BAY ด้วยซ้ำ แถมทิ้งท้ายด้วยว่า อนาคตโบนัส อาจจะมากขึ้นด้วยซ้ำ!!!


มหากาพย์อีกบท...เพิ่งเริ่ม