Phones





KTC ปรับโมเดลธุรกิจรับมือความเสี่ยง

2020-07-20 09:39:50 348




นิวส์ คอนเน็คท์ – KTC ปรับโมเดลธุรกิจรองรับการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลง เดินหน้าขยายพอร์ตสินเชื่อ “พี่เบิ้ม” เน้นกลุ่มสินเชื่อจำนำทะเบียน พร้อมวางแผนขยาย “พิโกไฟแนนซ์” และ “นาโน ไฟแนนซ์” ต่อเนื่อง ขณะที่ให้ความช่วยเหลือลูกค้าไปแล้วกว่า 4,000 ราย คิดเป็นมูลค่าหนี้ 300 ล้านบาท 


นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เปิดเผยว่า การดำเนินงานของบริษัทไตรมาส 2/63 และช่วงครึ่งปีแรกของปี 63 ยังคงความสามารถในการหารายได้และการสร้างผลกำไร แม้การประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบกับคุณภาพสินทรัพย์และปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรของบริษัทที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่เมื่อสถานการณ์โดยทั่วไปดีขึ้นและมีการผ่อนคลายมาตรการลง ผู้บริโภคได้เริ่มปรับตัวกลับมาใช้จ่ายดีขึ้น ทำให้ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรในช่วงครึ่งปีแรกของบริษัทลดลง 9.6% คิดเป็นมูลค่ารวม 90,613 ล้านบาท ซึ่งดีกว่าอุตสาหกรรมในช่วงระยะเวลา 5 เดือน


อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลังยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัว และอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหากมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของเชื้อโควิด-19 อีกครั้ง โดยบริษัทได้มีการปรับเปลี่ยนโมเดลทางธุรกิจเพื่อให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งของเศรษฐกิจและของอัตราดอกเบี้ยรับที่ลดลง โดยจะให้ความสำคัญกับการขยายตัวของสินเชื่อ “พี่เบิ้ม” ในส่วนที่เป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อจำนำทะเบียนทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ควบคู่กับการขยายสินเชื่อ “พิโก้ ไฟแนนซ์” และ “นาโน ไฟแนนซ์” ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีโอกาสสร้างการเติบโตได้ในระยะยาว


สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทตามมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.63 มีกำไรสุทธิในช่วงครึ่งปีแรก 2,790 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิในไตรมาส 2/63 อยู่ที่ 1,149 ล้านบาท รายได้ดอกเบี้ยรวมครึ่งปีแรกเติบโต 10% หรือคิดเป็นมูลค่า 7,247 ล้านบาท สัดส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวม (Cost to Income Ratio) ลดเหลือ 31.0% เนื่องจากการลดกิจกรรมการตลาดในช่วงเวลาดังกล่าว หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวม (NPL) ภายใต้มาตรฐานใหม่ TFRS 9 อยู่ที่ 6.6% เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวมอยู่ที่ 83,486 ล้านบาท



ในส่วนของฐานสมาชิกรวมอยู่ที่ 3.5 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้น 3.8% แบ่งเป็นพอร์ตสมาชิกบัตรเครดิต 2,605,461 บัตร เพิ่มขึ้น 8.3% เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตรเครดิตและดอกเบี้ยค้างรับรวมอยู่ที่ 53,242 ล้านบาท ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเท่ากับ 90,613 ล้านบาท ลดลง 9.6% NPL บัตรเครดิตตามมาตรฐานใหม่ TFRS 9 อยู่ที่ 5.6% พอร์ตสมาชิกสินเชื่อส่วนบุคคลเคทีซีเท่ากับ 932,112 บัญชี ลดลง 7.1% จากการปิดบัญชีที่ไม่เคลื่อนไหว เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สินเชื่อบุคคลและดอกเบี้ยค้างรับรวมอยู่ที่ 30,244 ล้านบาท และ NPL สินเชื่อบุคคลตามมาตรฐานใหม่ TFRS 9 อยู่ที่ 8.5%


นอกจากนี้ ตามมาตรฐานใหม่ TFRS 9 บริษัทยังสามารถทำรายได้รวมครึ่งปี 2563 อยู่ในระดับใกล้เคียงเดิมกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จากรายได้ดอกเบี้ยลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เท่ากับ 7,247 ล้านบาท และมีรายได้ค่าธรรมเนียม (ไม่รวมค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน) เท่ากับ 2,152 ล้านบาท สำหรับค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 7,595 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายบริหารงาน 3,430 ล้านบาท ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เท่ากับ 3,392 ล้านบาท และต้นทุนทางการเงิน 773 ล้านบาท


ทั้งนี้ บริษัทได้ดำเนินการช่วยเหลือด้านสินเชื่อให้กับลูกหนี้ เพื่อสนับสนุนมาตรการของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เช่น การปรับลดอัตราผ่อนชำระของบัตรเครดิตจากเดิม 10% เหลือ 5% ตั้งแต่เดือนเม.ย.63–64 และ 8% ในปี 65 และ 10% ในปี 66 เป็นต้นไป รวมทั้งยังได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19 เช่น การเปลี่ยนสินเชื่อเป็นระยะยาว การเลื่อนชำระค่างวดหรือเงินต้น การลดค่างวด เป็นต้น ซึ่งขยายเวลาการให้ความช่วยเหลือไปสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.63 โดยมีกลุ่มลูกหนี้เข้าร่วมปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือ ณ วันที่ 30 มิ.ย.63 จำนวน 4,000 ราย คิดเป็นมูลค่าหนี้ราว 300 ล้านบาท และมียอดลูกหนี้ที่ขอพักชำระหนี้ 99 ราย รวมทั้งปรับลดเพดานดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินใหม่ ตามอัตราที่ธปท.กำหนด โดยมีผลตั้งแต่ 1ส.ค.63 เป็นต้นไป


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews