Phones





AMATA เผย"กลุ่มปตท.-บีกริม"สนลงทุนโรงไฟฟ้านิคมฯพม่า

2020-08-25 09:26:25 651




นิวส์ คอนเน็คท์ – AMATA ลุยขายที่ดินครึ่งปีหลังเร่งยอดขายทั้งปี 63 โตตามเป้า 950 ไร่ จับตากลุ่มตลาดจีนเล็งย้ายฐานผลิตเข้าไทยเพิ่ม เดินหน้าปรับกลยุทธซื้อขายที่ดินหลังเจอพิษโควิด ลุ้นปัญหาการเมืองไม่บานปลาย ชี้มียอดขายที่ดินรอโอน 2.15 พันล้าน ส่วนนิคมฯ เมียนมา "บี.กริม- ปตท. " รุมจีบสร้างโรงไฟฟ้า 


นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA เปิดเผยว่า บริษัทยังคงเป้าหมายขายที่ดิน 950 ไร่ แม้ในช่วงครึ่งปีแรก 63 ขายที่ดินได้เพียง 116 ไร่ หลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยในช่วงครึ่งปีหลัง 63 คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น และสามารถเร่งขายที่ดินให้ได้ตามเป้าหมาย โดยการปรับกลยุทธ์ให้สอดรับกับยุควิถีใหม่ (New Normal) ซึ่งบริษัทเริ่มมีการใช้โดรนถ่ายทอดสดพื้นที่ดินผ่านช่องทางออนไลน์ให้กับลูกค้าดู หลังจากมีข้อจำกัดในเรื่องการเดินทาง เพราะต้องดำเนินตามมาตรการของภาครัฐที่ต้องกักกันโรค 14 วันหรือ State Quarantine


อย่างไรก็ตาม หลังจากรัฐบาลได้ผ่อนคลายล็อกดาวน์ เริ่มมีมาตรการให้นักธุรกิจสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ แต่ต้องดำเนินการตามมาตรการของรัฐ ซึ่งล่าสุดทางบริษัทได้มีการแจ้งรายชื่อแก่ทางการ เพื่อขอลงทะเบียนตามนโยบายรัฐในการผ่อนคลายการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยของชาวต่างชาติกลุ่มเป้าหมายที่ตอบรับมาตรการสถานกักกันโรค นักธุรกิจ/นักลงทุน ประมาณ 500 คน


ทั้งนี้ หากเกิดปัญหาเดินทางเข้ามาไม่ได้ ก็จะให้พันธมิตรจากประเทศจีนที่ร่วมลงทุนในนิคมไทย-จีน ที่ จ.ระยอง ช่วยทำหน้าที่ในจีนเป็นตัวแทนติดต่อนักลงทุน และลงนามข้อตกลงซื้อขายที่ดินแทน อย่างไรก็ตาม การจะดำเนินการขายที่ดินให้ได้ตามเป้าหมายยังต้องลุ้นให้ไม่เกิดการแพร่ระบาดรอบที่ 2 และปัญหาการชุมนุมประท้วงจะต้องไม่เกิดปัญหาบานปลาย



ขณะเดียวกัน ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าที่สนใจขยายการลงทุนในประเทศไทยจะเป็นนักธุรกิจจากประเทศจีนกว่า 70-80% ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่สนใจขยายฐานการผลิตในประเทศไทยหลังจากจีนมีปัญหากับสหรัฐอเมริกา และในสัดส่วนที่เหลือเป็น ญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ส่วนยอดขายที่ดินรอโอน (Backlog) ของ AMATA นั้นปัจจุบันอยู่ 2,157 ล้านบาท คาดว่าจะโอนได้ในปีนี้ราว 60-70% และในประเทศไทยบริษัทยังมีที่ดินรอการพัฒนาอีก 11,600 ไร่

ส่วนโครงการลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเมียนมา ภายใต้ชื่อนิคมอุตสาหกรรม Yangon Amata Smart and Eco City Limited (YASEC) เมืองย่างกุ้ง โดยบริษัทได้ลงทุนผ่านบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นในอัตราส่วน 100% ของทุนจดทะเบียนและชำระแล้ว คือ Amata Asia (Myanmar) Ltd ถือหุ้นใน YASEC ร้อยละ 80 และร่วมลงทุนกับหน่วยงานราชการของเมียนมาอีกร้อยละ 20 พื้นที่ทั้งหมดมีราว 2,000 เอเคอร์ ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนทั้งหมดประมาณ 162 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5,022 ล้านบาท


อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ในระยะแรกจะพัฒนาบนพื้นที่ 200 เอเคอร์ หรือประมาณ 506 ไร่ คาดว่าใช่เงินลงทุนพัฒนาในระยะแรกประมาณ 41.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,287 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มพัฒนาและขายที่ดินได้ภายในปี 64 แต่ก็ต้องให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 หมดไปหรือมีวัคซีนรักษา โดยในเบื้องต้นมีกลุ่มลูกค้าหลายรายที่ให้ความสนใจขยายฐานการผลิตในเมียนมา ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการไทย จีน ญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ทั้งนี้ในโครงการดังกล่าวยังได้รับความสนใจจากกลุ่มบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัท บี.กริมเพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) สนใจเข้าลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าในนิคมฯ


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews