Phones





ปตท.จับมือองค์การเภสัชฯสร้างโรงงานต้านมะเร็ง

2020-09-25 16:03:30 633




นิวส์ คอนเน็คท์ - องค์การเภสัชกรรมจับมือ ปตท. สร้างโรงงานผลิตยาทุกรูปแบบการรักษาโรคมะเร็ง แห่งแรกของประเทศไทย หวังลดค่ายาลงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ด้านปตท.ออกงบให้ราว 2.5 พันล้านบาท


เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2563 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังร่วมเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมพัฒนาโครงการโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง ระหว่างองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ว่า ความร่วมมือกันระหว่างองค์การเภสัชกรรมกับปตท.ในการสร้างโรงงานผลิตยาทุกรูปแบบที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง เป็นแห่งแรกของประเทศไทย โดยจะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงมากขึ้น ลดภาระด้านค่าใช้จ่ายในการนำเข้ายาจากต่างประเทศที่มีมูลค่าปีละกว่า 21,000 ล้านบาทลงมากกว่า
50% และยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมยาของประเทศ ทัดเทียมสากล เสริมความมั่นคงทางยา ให้พึ่งพาตนเอง คาดจะเริ่มผลิตปี 2570


นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เนื่องด้วยโรคมะเร็งเป็นโรคที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยการใช้ยาต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่นทำให้การเข้าถึงยาที่มีคุณภาพทำได้ยากและมีราคาแพง ดังนั้น การส่งเสริมการวิจัยและการผลิตยาที่ทันสมัย จึงเป็นสิ่งจำเป็น สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศ ในการมุ่งเน้นเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจ
สีเขียว (BCG Economy) ซึ่งเป็น New S-Curve ของประเทศไทย


โดยอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Comprehensive Medical Industry) เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและจะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านสุขภาพและวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น (Life Science) ซึ่งเป็นยอดปิรามิดสูงสุดในอุตสาหกรรมชีวภาพความร่วมมือพัฒนาโครงการโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งระหว่าง องค์การเภสัชกรรม กับ ปตท.นี้ เป็นอีกก้าวที่จะช่วยบรรลุเป้าหมายการยกระดับสาธารณสุข วิทยาศาตร์เทคโนโลยี และการแพทย์ของไทย ส่งเสริมการต่อยอดงานวิจัยทางการแพทย์ของประเทศให้สำเร็จเป็นรูปธรรม อีกทั้งจะก่อให้เกิดการจ้างงาน ช่วยลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพและความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรม เป็นองค์กรหลักด้านยาและเวชภัณฑ์ของประเทศ ได้ดำเนินโครงการพัฒนายารักษาโรคมะเร็ง โดยดำเนินการวิจัย พัฒนา และรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ผลิตยารักษาโรคมะเร็งชั้นนำของโลกพร้อมทั้งมีแผนก่อสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งขึ้นมาโดยเฉพาะ โดยมุ่งเน้นการผลิตยารักษาโรคมะเร็ง ทั้งยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) และกลุ่มยารักษาแบบจำเพาะเจาะจง (Targeted Therapy)


ประกอบด้วย ยาชนิดเม็ดประเภท Tyrosine Kinase Inhibitors (TKIs) ซึ่งเป็นยาชนิด small molecule สามารถแพร่เข้าเซลล์และจับกับเป้าหมายภายในเซลล์ได้โดยตรง และยาฉีดชีววัตถุคล้ายคลึงประเภท Monoclonal antibodies (Biosimilar) ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ได้ แต่จะไปจับเป้าหมายที่อยู่ภายนอกเซลล์หรือบนผิวเซลล์ด้วยโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง ต้องมีมาตรฐานคุณภาพการผลิตที่เป็นสากล มีมาตรฐานความปลอดภัย และต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง องค์การเภสัชกรรม กับ ปตท. จึงได้ร่วมกันดำเนินการศึกษาและออกแบบโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง นอกจากนี้โรงงานแห่งนี้สามารถรองรับและต่อยอดงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรม ถือเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวว่า โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งนี้ เป็นหนึ่งในเจตนารมณ์ของ ปตท. ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนตามพันธกิจ “Powering Thailand’s Transformation” ที่มุ่งเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลง โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม สู่ทุกภาคส่วน มุ่งยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ พร้อมพัฒนาสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย



อย่างไรก็ตามความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นตัวอย่างความร่วมมือของรัฐวิสาหกิจไทย ที่ร่วมกันเดินหน้าเพื่อพัฒนาประเทศไทย ตามแนวทาง “Restart Thailand” โดยโรงงานผลิตยารักษามะเร็งนี้ จะตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมวนารมย์ของ ปตท. หรือ PTT WEcoZi จังหวัดระยอง โดยความร่วมมือครั้งนี้ ปตท.จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงงานที่คาดว่าจะมีมูลค่าราว 2.5 พันล้านบาท และช่วยบริหารจัดการในระหว่างการก่อสร้าง ขณะที่องค์การเภสัชกรรม จะเป็นผู้ศึกษาและเลือกเทคโนโลยี และชนิดของยาในการผลิต หลังจากที่ก่อสร้างแล้วเสร็จก็จะส่งมอบให้กับองค์การเภสัชกรรมเป็นผู้บริหารจัดการต่อไป และก็จะทยอยคืนค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างในรูปแบบของเค่าเช่าให้กับปตท. ทั้งหมดต่อไป

สำหรับโรงงานผลิตยาจะเริ่มก่อสร้างในปี 2565 โดยมีการผลิตยา 80 ชนิด กำลังการผลิตราว 30 ล้านยูนิต/ปี และคาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2567 แต่ยังต้องใช้เวลาการยื่นขอจดทะเบียนยา ทำให้คาดว่าจะสามารถผลิตยาในเชิงพาณิชย์ได้ในราวปี 2570 สำหรับความร่วมมือในอนาคตก็อาจจะมีการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ และทำการตลาดซึ่งไม่ใช่เฉพาะในไทย แต่จะครอบคลุมภูมิภาค เพราะมีกำลังการผลิตค่อนข้างมาก หากสามารถทำตลาดได้มากขึ้นก็จะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลงด้วย ซึ่งเบื้องต้นทางองค์การเภสัชฯจะเป็นผู้ทำการตลาดในประเทศ ส่วนปตท.จะช่วยทำการตลาดในต่างประเทศ


 


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews