Phones





คปภ.ปลุกประกัน รับมือยุคดิจิทัล

2019-07-24 01:52:59 209






นิวส์ คอนเน็คท์ - "เลขาธิการ คปภ. กระตุ้นธุรกิจประกันภัยไทยปรับโมเดลธุรกิจพร้อมเร่งสปีดศักยภาพสู่ยุคดิจิทัล เตรียมทำคลอดแผนพัฒนาการประกันภัย (ฉบับที่4) ต่อยอดธุรกิจประกันภัยไทยเติบโต อย่างยั่งยืน และนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นรูปธรรม ควบคู่กับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ของผู้บริโภคในทุกมิติ


ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ “เหลียวหลัง แลหน้าธุรกิจประกันภัยไทย” ซึ่งจัดโดยนิตยสาร Thailand Insurance สมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางของธุรกิจประกันภัยในประเทศไทย และสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนา ส่งเสริมธุรกิจประกันภัย ตลอดจนการสร้างความรู้ ความเข้าใจในธุรกิจประกันภัยให้กับประชาชน เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2562 ณ อาคารสำนักงานแห่งใหม่ สมาคมประกันวินาศภัยไทย (ซอยปุณวิถี) เขตพระโขนง กรุงเทพฯ


ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้ปาฐกถาพิเศษโดยฉายภาพทิศทางนโยบายของ สำนักงาน คปภ. ที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยไทย ในบริบทของการ “เหลียวหลัง” ด้วยการมองย้อนกลับไปดูทิศทางและกรอบการดำเนินงานตามแผนพัฒนาการประกันภัยที่ผ่านมา โดยเริ่มต้นจากแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2549-2554) แต่บังคับใช้แค่ 4 ปี (พ.ศ.2549-2552) เพื่อปรับปรุงให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาระบบสถาบันทางการเงินและแผนพัฒนาตลาดทุนไทย โดยแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 1 มุ่งเน้นการปรับโครงสร้างการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยให้มีมาตรฐาน มีศักยภาพและขีดความสามารถพร้อมแข่งขัน มีการบริหารจัดการและการให้บริการตามมาตรฐานสากล โดยมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยจากกรมการประกันภัย เป็นสำนักงาน คปภ. รวมถึงปรับปรุงพระราชบัญญัติประกันชีวิตและพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทด้านการประกันภัยและได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้สอดคล้องกับความต้องการและสภาพความเสี่ยงในขณะนั้น


ต่อมาเมื่อเข้าสู่แผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2553-2557) สำนักงาน คปภ. ได้วางกรอบการพัฒนาธุรกิจประกันภัยต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการยกระดับมาตรฐานการกำกับและตรวจสอบตามความเสี่ยง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้ธุรกิจประกันภัย มีเงินกองทุนเพียงพอรองรับความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจ และความท้าทายจากสภาพแวดล้อม ที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นที่มาของการนำมาตรฐานการดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง (Risk-Based Capital: RBC) และระบบสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System: EWS) มาใช้ร่วมกับการเร่งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัย และการพัฒนาฐานข้อมูลกลางด้านการประกันภัย รวมทั้งจัดตั้งสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูงเพื่อเป็นศูนย์กลางด้านวิชาการประกันภัยให้แก่ประชาชนและบุคลากรประกันภัย โดยเมื่อจบแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 2 ธุรกิจประกันภัยไทย ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า สามารถก้าวผ่านบททดสอบสำคัญได้อย่างราบรื่น จากเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี 2554 ที่สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศมหาศาล และมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยกว่า 4 แสนล้านบาท โดยที่บริษัทประกันภัยยังมีความมั่นคง


เมื่อก้าวเข้าสู่แผนพัฒนาการประกันภัย (ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2559 –2563) ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ตนเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ คปภ. (คนที่ 3) ของสำนักงาน คปภ. ในขณะที่อุตสาหกรรมประกันภัยไทยพบกับบททดสอบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม ระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่บริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ (New Normal) ระบบการเงินโลกมีการเชื่อมโยงกันมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทย การขาดแคลนแรงงาน การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม (Climate Change) และการพัฒนาของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแบบก้าวหน้า สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลจึงขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยไทยตามแผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 3 เพื่อให้ระบบประกันภัยไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากประชาชนด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย มีการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยขึ้นเป็นแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียนทำให้ประชาชนที่มาร้องเรียนมีทางเลือกในการระงับข้อพิพาทด้านประกันภัยโดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด มีการเสริมสร้างความรู้และการเข้าถึงการประกันภัย ด้วยการให้ความรู้เชิงรุกผ่านโครงการ คปภ. เพื่อชุมชน โครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the trainers) โดยนำภาคอุตสาหกรรมประกันภัยร่วมลงพื้นที่รณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจด้านการประกันภัยเชิงรุกแก่ชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่สอดคล้องกับความต้องการและความเสี่ยง อาทิ การประกันภัยสำหรับรายย่อย (Micro Insurance) ที่มีเบี้ยประกันภัยราคาถูกและความคุ้มครองเข้าใจง่าย เช่น การประกันภัยข้าวนาปี การประกันภัยลำไย การประกันภัยประมงเรือพื้นบ้าน การประกันภัยอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์และปีใหม่


นอกจากนี้ ยังมีการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขัน และสนับสนุนบริษัทประกันภัยที่มีศักยภาพออกไปลงทุนในต่างประเทศ และเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการประกันภัย เพื่อยกระดับบุคลากรประกันภัยด้วยการจัดทำหลักสูตรและการอบรมต่างๆ เช่น หลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง หรือ หลักสูตร วปส. ซึ่งเป็นหลักสูตรสหวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับประกันภัยอย่างรอบด้าน รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการประกันภัย เพื่อให้ระบบประกันภัยมีฐานข้อมูลกลางด้านการประกันภัย (Insurance Bureau System) และการเชื่อมโยงข้อมูลที่สามารถรองรับการดำเนินงานของหน่วยงานกำกับบริษัทประกันภัย หน่วยงานเครือข่าย และประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการพัฒนา OIC Gateway เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลกับบริษัทประกันภัยกว่า 80 แห่งเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อบริการประชาชนผ่านระบบกลางที่เดียว และต่อยอดให้เกิดความร่วมมือทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมประกันภัยในอนาคต มีการจัดตั้ง Center of InsurTech, Thailand (CIT) เพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการประกันภัย (InsurTech) และเทคโนโลยีประกันภัยในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย (Supervisory Technology : SupTech) ให้ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมทั้งผลักดันให้ประเทศไทยเป็น InsurTech Startup Hub โดยศูนย์ CIT จะขยายบทบาทในการร่วมพัฒนา RegTech และ SupTech ให้การกำกับดูแลมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็น One Stop Services ศูนย์กลางในคำปรึกษา และคำแนะนำให้แก่บริษัทประกันภัย และ Startup ในทุกมิติ เพื่อรองรับการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคต