Phones





เปิดวิสัยทัศน์ผู้ว่า กฟผ.คนที่ 15 ลงทุนพลังงานครบวงจร

2020-12-15 18:20:51 733




นิวส์ คอนเน็คท์ - เปิดวิสัยทัศน์ผู้ว่า กฟผ.คนที่ 15 ขับเคลื่อนพลังงานอย่างครบวงจร ภายใต้แนวคิด “EGAT for ALL” วางการลงทุน 3 แนวทาง เดินหน้าผลักดันงานที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ลุยลงทุนขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า 8,875 เมกะวัตต์ ด้วยงบลงทุน 1 ล้านล้านตามแผนพีดีพี


เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยภายในงานทีมผู้บริหาร กฟผ. ร่วมพูดคุยกับสื่อมวลชนถึงทิศทางการดำเนินงานของ กฟผ. และแนวทางการบริหารงาน ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีส่งผลกระทบโดยตรงต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า รวมถึงรูปแบบการผลิตไฟฟ้าซึ่งถูกกำหนดโดยผู้ใช้ไฟฟ้ามากขึ้น กฟผ. จึงต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมไฟฟ้าในยุค New Normal ปรับวิธีคิดและการดำเนินงานภายใต้แนวคิด “EGAT for ALL” หรือ กฟผ. เป็นของทุกคน และทำเพื่อทุกคน เพราะนอกจากการผลิตและส่งไฟฟ้าเพื่อรักษาความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของประเทศแล้ว การดำเนินงานของ กฟผ. ยังต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีความหลากหลายในยุคดิสรัปชั่น


ทั้งนี้ กฟผ.ตั้งเป้าเดินหน้าสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านพลังงานอย่างครบวงจร (Energy Solutions Provider) ด้วยหลักการบริหารแบบ “ยืดหยุ่น ทันการณ์ ประสานประโยชน์” เพื่อตอบโจทย์ ความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าที่แตกต่าง โดยจะดำเนินการ 3 แนวทาง คือ 1.เดินหน้าผลักดันงานที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การพัฒนาโรงไฟฟ้าตามแผน PDP2018 Rev.1 ให้แล้วเสร็จตามกำหนด โดยการลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าตาม PDP2018 Rev.1 นั้นนับตั้งแต่ปี 63-80 จะมีโรงไฟฟ้าหลักกำลังผลิตตามสัญญา 8 โครงการ รวม 6,150 เมกะวัตต์


โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ (Floating solar + Hydro) ในเขื่อนของกฟผ. 9 แห่ง 16 โครงการ กำลังผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์ และหากรวมกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าหลักก็จะเป็น 8,875 เมกะวัตต์ พร้อมดำเนินการควบคู่กับการลงทุนระบบสายส่งไฟฟ้านั้นคาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 1 ล้านล้านบาท โดยเฉลี่ยลงทุนปีละประมาณ 55,000 – 56,000 ล้านบาท โดยแบ่งการลงทุนโรงไฟฟ้าราว 60% ระบบสายส่งไฟฟ้า 40%


นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในทุกการดำเนินงาน ตั้งแต่การพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าด้วยโรงไฟฟ้าดิจิทัล (Digital Power Plant) ทำให้โรงไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงขึ้น ช่วยลดต้นทุนการผลิต พัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบผสมผสาน อาทิ โครงการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมร่วมกับเซลล์เชื้อเพลิง โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ


2.”เพิ่มส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจเดิม” ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มรายได้ในการซื้อขายไฟฟ้าต่างประเทศ โดยในระยะแรกจะมีการลงทุนการลงทุนระบบสายส่งไฟฟ้าเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน (Grid Connectivity) ยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางซื้อขายพลังงานของภูมิภาค และปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าในประเทศให้มีความมั่นคงแข็งแรง โดยในปี 64 จะเร่งดำเนินสร้างสายส่งไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ และ 500 กิโลโวลต์ เชื่อมโยงบริเวณชายแดนไทย – กัมพูชา (วัฒนานคร จ.สระแก้ว - พระตะบอง 2 กัมพูชา) เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าปริมาณ 300 เมกะวัตต์ ภายในปี 66 ตลอดจนการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) รองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน


รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของประเทศ (RE Forecast Center) ซึ่ง สามารถพยากรณ์กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ละเอียดในระดับราย 30 นาที จนถึงในอีก 7 วันถัดไปได้อย่างแม่นยำ พร้อมทั้งนำร่องศูนย์สั่งการการดำเนินการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response Control Center) เชื่อมต่อกับระบบของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการตอบสนองทางด้านโหลดในภาพรวมของประเทศ ปรับปรุงโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ให้มีความยืดหยุ่น (Flexible Power Plant) มีความพร้อมจ่ายสูง โดยเริ่มนำร่องที่โรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 แล้ว ทำให้สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งพัฒนาแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System : BESS) ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ และสถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพไฟฟ้าในพื้นที่ที่มีพลังงานหมุนเวียนเชื่อมต่อเข้าระบบไฟฟ้าปริมาณมาก


นอกจากนี้แล้วยังต้องดำเนินการเพิ่มรายได้ในธุรกิจนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ตามนโยบายการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติของกระทรวงพลังงาน โดยในช่วง 3 ปี (64-66) กฟผ.มีแผนนำเข้า LNG 5.5 ล้านตัน แบ่งเป็นการนำเข้าในปี 64 จำนวน 1.9 ล้านตัน ปี 65 นำเข้าอีกจำนวน 1.8 ล้านตัน และปี 66 นำเข้า 1.8 ล้านตัน อย่างไรก็ตามในปี 64 นั้นมีแผนนำเข้า LNG ล็อตแรกช่วงไตรมาส 1/64 โดยในระยะแรกจะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.


ส่วนภายหลังจากมีการเปิดเสรีนำเข้าก๊าซฯ กฟผ.ก็มองโอกาสที่จะทำตลาดอย่างจริงจังในธุรกิจนี้มากขึ้น โดยตั้งเป้าภายใน 4-5 ปีจะขยายลงทุนธุรกิจต้นน้ำของ LNG หรือ ลงทุนซื้อหุ้นในแหล่งผลิต LNG ซึ่งอาจจะเป็นการเข้าไปลงทุนโดยบริษัทลูกที่กฟผ.ถือหุ้นอยู่ อย่างเช่น บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH, บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO พร้อมกันนี้ยังมีแผนเพิ่มรายได้ในธุรกิจบำรุงรักษาสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน


ขณะที่การลงทุนโครงการคลังรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)ลอยน้ำ(FSRU) ในอ่าวไทยตอนบน ขนาด 5 ล้านตันต่อปี มูลค่าการลงทุนราว 24,000 ล้านบาทของ กฟผ.นั้นผ่านความการประเมินผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว พร้อมเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไตรมาส 1/64 เพื่อเปิดประมูลก่อสร้างต่อไป


ส่วนการดำเนินธุรกิจแนวทางที่ 3 คือ การเติบโตในธุรกิจใหม่ อาทิ ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้แก่ สถานีอัดประจุไฟฟ้า, เครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบเร็ว (EGAT DC Quick Charger) ขนาด 100 กิโลวัตต์, ธุรกิจสมาร์ทอีวีชาร์จเจอร์ขนาดเล็กแบบครบวงจรภายใต้แบรนด์ Wallbox, ชุดดัดแปลงสภาพรถยนต์ให้กลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV Kit), ธุรกิจแบตเตอรี่อัจฉริยะ (Batt 20C) สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว, ธุรกิจซื้อขายเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC)


 


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews