Phones





SCB ชี้ศก.ไทยขยายตัวต่ำ2.2% เอสเอ็มอียังไม่สร่างไข้โควิด

2021-02-04 14:51:47 571




นิวส์ คอนเน็คท์ – SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 64 เติบโตเพียง 2.2% คาดกนง.ยังคงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำตลอดทั้งปีนี้ เพื่อรองรับโอกาสในการผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน ขณะที่ปรับลดการเติบโตภาคการส่งออกเหลือ 4% จากเดิมคาดไว้ 4.7%


เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 ดร. กําพล อดิเรกสมบัติ, ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโม้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.5% ตลอดทั้งปี64 เพื่อรักษาขีดความสามารถในการผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยผลกระทบจากการกลับมาระบาดของโควิด-19 ทั้งในไทยและต่างประเทศ ทำให้ EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี64 จะเติบโตเพียง 2.2% ซึ่งถือว่าเป็นการฟื้นตัวที่ค่อนข้างช้า และน่าจะทำให้ กนง. รักษาอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำต่อเนื่องเพื่อสนับสนุการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ขณะที่คาดการณ์ส่งออกไทยขยายตัวที่ 4.0% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 4.7%


สำหรับภาคการท่องเที่ยวไทยจะยังไม่ฟื้นตัวนัก เนื่องจากการเปิดประเทศของกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทยมีแนวโน้มช้ากว่าคาด ซึ่ง EIC มองว่าไทยจะเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยไม่ต้องกักตัวในไตรมาส 3/64ให้กับนักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีดวัคซีนและต้องผ่านการตรวจไม่พบเชื้อไวรัสในร่างกายแล้วเท่านั้น ซึ่ง EIC คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จะมีเพียง เพียง 3.7 ล้านคน


ขณะที่การระบาดรอบใหม่ในไทยจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน แม้คาดว่าผลกระทบจะน้อยกว่าการระบาดในรอบแรก แต่มีแนวโน้มซ้ำเติมปัญหาแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ก่อนหน้า โดยภาครัฐไทยได้ดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดในแนวทางที่สอดคล้องกับต่างประเทศ


นอกจากนี้ ยังมีเม็ดเงินจากภาครัฐและมาตรการทางการเงินที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจและบรรเทาผลกระทบจากรายได้ที่ขาดหายไปของครัวเรือนได้ระดับหนึ่ง ทำให้ผลกระทบต่ออุปสงค์ภายในประเทศน่าจะไม่รุนแรงเท่ากับการระบาดระลอกแรก อย่างไรก็ตาม ผลจากการแพร่ระบาดรอบใหม่นี้อาจซ้ำเติมปัญหาแผลเป็นทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME และแรงงานในธุรกิจด้านบริการที่มีความเปราะบางอยู่แล้ว


ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เหมาะสม ตรงจุด และเพียงพอ ผ่านเครื่องมือนโยบายอื่น เช่น มาตรการกระตุ้นภาครัฐ จะมีความจำเป็นมากขึ้น โดย EIC มองว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอาจไม่เหมาะสมกับภาวะปัจจุบัน เนื่องจาก อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือที่ส่งผลเป็นวงกว้าง (blunt tool) และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเฉพาะเจาะจงดังที่ กนง. แสดงความกังวล


สำหรับมาตรการภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญต่อการพยุงเศรษฐกิจมากขึ้น โดยการดำเนินนโยบายควรจะมุ่งเป้าช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นพิเศษ ซึ่งในปัจจุบัน ภาครัฐยังมีเม็ดเงินที่สามารถพยุงเศรษฐกิจได้คิดเป็นวงเงินราว 6.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็นเม็ดเงินจาก พรก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่เหลือราว 5 แสนล้านบาท และเม็ดเงินในส่วนของงบกลางอีกประมาณ 1.4 แสนล้านบาท


ในส่วนของนโยบายการเงินอาจถูกผ่อนคลายเพิ่มเติมผ่านเครื่องมืออื่นนอกจากดอกเบี้ยนโยบาย โดยล่าสุด ธปท. ได้ต่ออายุมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ออกไปจนถึงมิ.ย.64 ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบเป็นรายกรณีไป จึงอาจช่วยบรรเทาผลกระทบของการแพร่ระบาดต่อครัวเรือนได้ตรงจุดกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยเป็นการทั่วไป ที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพสถาบันการเงิน และประสิทธิภาพของการส่งผ่านนโยบายอีกด้วย


สำหรับในระยะต่อไป คาดว่าอาจมีการผ่อนคลายเกณฑ์ของมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) เพื่อจูงใจให้มีการปล่อยกู้มากขึ้น โดยอาจมีการพิจารณาเพิ่มวงเงินที่สถาบันการเงินสามารถปล่อยกู้ได้ ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสถาบันการเงิน และรัฐบาลอาจเข้ามาช่วยชดเชยความเสียหายมากขึ้น


 


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews