Phones





EIC มองเศรษฐกิจCLMV ชี้เวียดนามฟื้นเร็วสุด

2021-02-19 17:48:00 742




นิวส์ คอนเน็คท์ - EIC คาดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV ปี 64 ยังคงมีความแตกต่างกัน ประเมิน 3 ปัจจัย การคุมการระบาดของโควิด 19 และความคืบหน้าของการฉีดวัคซีน ประสิทธิภาพของมาตรการภาครัฐ ปัจจัยเสี่ยงเฉพาะรายประเทศ มองเวียดนามฟื้นตัวเร็วสุด


เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า EIC คาดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV ปี 64 ยังคงมีความแตกต่างกัน ประเมิน 3 ปัจจัยหลักในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV ในปี 64 ได้แก่ ประสิทธิภาพของมาตรควบคุม และความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง ประกอบกับขนาดและประสิทธิภาพของมาตรการภาครัฐเพื่อบรรเทาผลกระทบจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงเฉพาะรายประเทศ เช่น ความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลลาว และสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ปะทุขึ้นในเมียนมา


ขณะที่เศรษฐกิจเวียดนามยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดย EIC คาดว่าจะเติบโตราว 7.0% ในปี 64 จากปี 63 อยู่ที่ 2.9% จากการส่งออกที่ไปได้ดีและอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่วนความเสี่ยงที่ต้องจับตาคือการที่สหรัฐฯ ขึ้นบัญชีเวียดนามเป็นประเทศผู้บิดเบือนค่าเงิน ซึ่งแม้จะยังไม่มีมาตรการลงโทษเพิ่มเติมจากสหรัฐฯ แต่ประเด็นดังกล่าวยังเป็นความเสี่ยงต่อการส่งออกเวียดนามในระยะข้างหน้า


ส่วนเศรษฐกิจกัมพูชาจะทยอยฟื้นตัวด้วยแรงสนับสนุนจากการส่งออกไปจีนภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีจีน-กัมพูชา (CCFTA) ซึ่งเพิ่งลงนามไป โดยคาดว่าจะกลับมาเติบโต 4.0% ในปี 2564 จากปี 63 อยู่ที่ -1.9% ทั้งนี้สัดส่วนการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่สูง (14% ของ GDP) จะยังคงเป็นปัจจัยฉุดหลักต่อการฟื้นตัวของกัมพูชาจนกว่าจะมีวัคซีนใช้อย่างแพร่หลายในภูมิภาค


ขณะที่ข้อจำกัดทางการคลังจะทำให้เศรษฐกิจลาวยังฟื้นตัวอย่างช้า ๆ โดย EIC คาดว่าจะเติบโต 4.5% ในปี 64 จากปี 63 อยู่ที่ -0.5% เนื่องจากรัฐบาลลาวยังเผชิญปัญหาบริหารจัดการหนี้สาธารณะ ส่งผลให้ทางเลือกการระดมทุนเพื่อออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อยู่ในวงจำกัด ทั้งนี้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จากจีนจะเป็นแรงพยุงสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจลาวในระยะต่อไป


สำหรับเมียนมาปรับประมาณการเศรษฐกิจลงมาอยู่ที่ 0.0% ในปีงบประมาณ 63/64 จากปี 62/63 อยู่ที่ 1.5% และยังคงมีความเสี่ยงด้านต่ำอยู่มาก เนื่องจากเมียนมาเป็นประเทศเดียวในกลุ่ม CLMV ที่ยังเผชิญการระบาดของ COVID-19 รวมถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนทางการเมืองของเมียนมาเป็นความเสี่ยงสำคัญของภูมิภาคที่ต้องจับตามอง แนวโน้มการคว่ำบาตรจากต่างชาติจะส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจเมียนมาและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าทั้งในด้านการค้าและการลงทุน อาทิ


อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวในปี 64 มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และไม่ทั่วถึงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV และยังมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะการค้าและการลงทุนในเมียนมา โดยการค้าและการลงทุนกับเวียดนามจะมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากกว่ากับประเทศอื่น ๆ ตามการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจเวียดนาม แต่การค้าและการลงทุนกับประเทศที่เหลือยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการค้าการลงทุนในเมียนมาที่มีแนวโน้มถูกชะลอออกไปจากความไม่แน่นอนทางการเมือง


ขณะเดียวกัน ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) จะเป็นอีกแรงสนับสนุนต่อการค้าและการลงทุนของภูมิภาค โดย RCEP ถือเป็นข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศที่ครอบคลุมขนาดเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก (29% ของ GDP โลก) ซึ่งผลกระทบสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก อาทิ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะได้รับประโยชน์ทางการค้าจากการลดกำแพงภาษีมากที่สุด


ทั้งนี้ กลุ่มประเทศ CLMV จะได้ประโยชน์มากจากการลดมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) ภายใต้ข้อบทประเด็นการค้าสมัยใหม่ใน RCEP โดยเฉพาะด้านการค้าบริการ การลงทุน และการใช้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) บนมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด นอกจากนี้ RCEP ยังกำหนดข้อปฏิบัติเฉพาะสำหรับกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งเป็นประเทศที่มีระดับการพัฒนาต่ำกว่า โดยให้เวลาในการทยอยปฏิรูปกฎหมายและระเบียบในประเทศให้เข้ากับเครือข่ายการค้า RCEP ซึ่งจะสร้างผลกระทบต่อธุรกิจท้องถิ่นในวงจำกัด


อย่างไรก็ตามในระยะยาว ไทยจะได้ผลบวกจากกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าที่เป็นมาตรฐานเดียวกันภายใต้ RCEP รวมถึงการพัฒนาในกลุ่มประเทศ CLMV เช่นกัน โดยไทยสามารถยกระดับตัวเองให้เป็นประเทศผู้ลงทุนในภูมิภาค เน้นพัฒนาภาคการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูงในประเทศ และย้ายการผลิตที่เน้นใช้แรงงานไปยังประเทศเพื่อนบ้าน CLMV ที่กำลังเติบโตแทน


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews