Phones





BBL ชวนกูรูติวเข้มเอสเอ็มอี แนะทยอยลงทุนปรับโมเดลธุรกิจ

2024-12-25 12:15:40 77



 
นิวส์ คอนเน็คท์ – BBL จัดสัมมนาพาผู้ประกอบการ เปลี่ยนผ่านองค์กรสู่โลกยุคใหม่ พร้อมชวนกูรูร่วมติวเข้มตีโจทย์ธุรกิจ กระตุกเอสเอ็มอีตื่นตัว ปรับทัพธุรกิจตามแนวคิด ESG มุ่งสร้างความยั่งยืน แนะเตรียมวางแผนทยอยลงทุน ใช้ประโยชน์จาก ESG ลดต้นทุนเพิ่มผลกำไรให้แก่องค์กรอย่างยั่งยืน
 
เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BBL เปิดเผยว่า ธนาคารได้จัดสัมมนา “Digital Transformation For SME-EP4” ส่งท้ายปี ให้แก่กลุ่มเอสเอ็มอี ในหัวข้อ ‘แนวทางการรับมือเพื่อ Transform องค์กร ไปรับกติกาใหม่ด้าน ESG ของโลกและสังคม’ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการปรับตัวเข้าสู่โลกธุรกิจในยุคใหม่ได้อย่างราบรื่น ลดผลกระทบที่จะมีต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะในประเด็นด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมต่อสังคมโลก และเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อนำไปสู่การสร้างความยั่งยืน (Sustainability) ให้แก่ธุรกิจในระยะยาว ซึ่งธุรกิจสามารถนำแนวคิดด้าน ESG มาเป็นกรอบการดำเนินงานที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนใน 3 มิติ คือ สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และ ธรรมาภิบาล (Governance)
 
“การปรับเปลี่ยนองค์กรไปสู่การปฏิบัติภายใต้หลักการ ESG และนำไปสู่การสร้างความยั่งยืน เป็นประเด็นที่ธนาคารให้ความสำคัญและพยายามส่งเสริมให้สังคมตระหนักรู้เรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งแก่พนักงานภายในองค์กร ไปจนถึงลูกค้าผู้ประกอบการทุกขนาด เพราะถือเป็นบริบททางธุรกิจที่กำลังจะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ หลายประเทศกำลังปรับใช้แนวคิดดังกล่าวมาสู่การปฏิบัติจริง เช่น การออกกฎหมาย หรือแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับ ESG สำหรับธุรกิจที่จะนำสินค้าเข้ามาขายภายในประเทศ เป็นต้น แม้กระบวนการต่างๆ จะต้องใช้เวลาก่อนเริ่มบังคับใช้ แต่เชื่อว่าทุกคนก็ต้องปรับตัวหากไม่อยากตกขบวนของโลกธุรกิจในอนาคต ขณะเดียวกัน ธนาคารกรุงเทพในฐานะ ‘เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน’ จึงได้พยายามผลักดันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตระหนักถึงความสำคัญการเปลี่ยนไปเป็นองค์กรสีเขียว ด้วยการสนับสนุนทั้งวงเงินสินเชื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลงและองค์ความรู้ต่างๆ อย่างรอบด้านทุกมิติ” ดร.พิเชฐ กล่าว
 
ด้านนางสาวชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการอาวุโส บริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด ในฐานะวิทยากรการสัมมนาหัวข้อ ‘แนวทางการรับมือเพื่อ Transform องค์กร ไปรับกติกาใหม่ด้าน ESG ของโลกและสังคม’ กล่าวว่า กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการต้นน้ำ กลางน้ำ และกลุ่มซัพพลายเชน จะกลายเป็นกลุ่มที่ได้รับกระทบจากข้อกีดกันด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากที่สุดจากความต้องการของอุตสาหกรรมปลายน้ำ โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่เจอข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้นจากประเทศผู้นำเข้าต่างๆ ซึ่งข้อกำหนดนั้นจะถูกส่งต่อมายังผู้ผลิต
 
ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการควรจะเริ่มทำเป็นอันดับแรก คือ การสำรวจธุรกิจของตัวเองก่อนว่าอยู่ในกลุ่มธุรกิจใดและเกี่ยวข้องกับใครบ้าง เพื่อหาแนวทางในการปรับเปลี่ยนธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้อย่างเหมาะสม เพราะการปรับเปลี่ยนแต่ละครั้งย่อมหมายถึงการลงทุนที่เพิ่มขึ้น จึงต้องคำนึงถึงการลงทุนที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ในระยะยาว แต่ไม่จำเป็นต้องรีบลงทุนปรับเปลี่ยนทั้งหมด หากยังไม่เกิดผลกระทบในระยะสั้นนี้ ขณะเดียวกัน หากธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบก่อน เช่น มีความเกี่ยวข้องกับ 6 กลุ่มธุรกิจได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม และไฮโดรเจน ที่ขายสินค้าไปยังสหภาพยุโรป จะต้องเตรียมรับมือกับมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ที่จะเริ่มต้นในปี 2569 การเร่งปรับตัวในเวลานี้ก็เป็นสิ่งจำเป็น
 
“ในภาคยานยนต์เองจากการสำรวจพบว่า 73% ของบริษัทในอุตสาหกรรมนี้พร้อมที่จะปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว แต่มีเพียง 41% ที่ได้เริ่มนำหลักปฏิบัติ ESG มาปรับใช้จริงแล้ว ดังนั้นต้องสำรวจตัวเองก่อนว่ามีความพร้อมแค่ไหนที่จะปรับตัวจริง เพราะหลัก ESG ตอนนี้ยังเป็นเรื่องที่ ‘ควรทำ’ แต่ในระยะยาวจะกลายเป็นเรื่องที่ ‘ต้องทำ’ ดังนั้น ยังมีเวลาที่ผู้ประกอบการจะได้ศึกษาและทำความเข้าใจ ไม่จำเป็นต้องมองเพียงการเปลี่ยนในเรื่องๆ ใหญ่ อาจจะเริ่มจากการทำในเรื่องเล็กๆ ที่ไม่ต้องลงทุน หรือลงทุนต่ำก่อน แต่สิ่งสำคัญคือ ทำแล้วต้องได้อะไรกลับมา ไม่ช่วยเพิ่มยอดขาย ก็ต้องช่วยลดต้นทุน ทางใดทางหนึ่ง โดยในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ที่การเพิ่มยอดขายเพื่อทำกำไรอาจจะเป็นเรื่องยาก ดังนั้นการลดต้นทุนเพื่อเพิ่มผลกำไรด้วยการทำ ESG จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจและได้ประโยชน์ที่ยั่งยืน” นางสาวชนาพรรณ กล่าว
 
สำหรับ 3 เรื่องท้าทายของการปรับเปลี่ยนธุรกิจตามหลัก ESG ที่จะต้องคำนึงถึง เรื่องแรก คือ การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างความยั่งยืนและกิจกรรมประจำวัน ซึ่งเป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดในการนำไปสู่ปฏิบัติจริง เพราะความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน เช่นเรื่องง่ายๆ อย่างการลดการใช้พลาสติก เรื่องขยะ ที่จะต้องตระหนักรู้ร่วมกันทั้งองค์กรจึงจะประสบผลสำเร็จ และเมื่อทำเรื่องนี้ได้แล้วจึงนำไปสู่ เรื่องที่ 2 การบูรณาการแนวคิดและการปฏิบัติแบบขอความร่วมมือเพื่อกำหนด KPI ด้านความยั่งยืนเพื่อวัดประสิทธิภาพ และเรื่องสุดท้ายคือการเก็บรวบรวม จัดการข้อมูลและวิเคราะห์ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นเครื่องการันตีให้แก่องค์กรว่าสามารถเปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่ยุคแห่งการเติบโตอย่างยั่งยืนได้สำเร็จ