Phones





KTB จัดงาน CIO Forum 2025 เจาะลึกศก.ไทย เปิดโลกทัศน์ใหม่การลงทุน

2025-01-17 18:13:05 82



 
นิวส์ คอนเน็คท์ – KTB จัดงานสัมมนา “CIO Forum 2025 : Reshaping Investment Paradigm” เปิดมุมมอง เศรษฐกิจ และการลงทุนแบบเจาะลึก ทั้ง ทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ความท้าทายจากสถานการณ์การค้าโลก และพัฒนาการของเทคโนโลยี AI พร้อมกลยุทธ์การจัดพอร์ตลงทุน สร้างความมั่นคงทางการเงิน
 
เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะเติบโต 2.3 - 3.3% จากแรงขับเคลื่อนรายจ่ายภาครัฐ อุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวจากการท่องเที่ยว รวมทั้งการส่งออกที่คาดว่า จะขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แนวนโยบายของทรัมป์ที่จะยกระดับมาตรการกีดกันทางการค้าเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ ผลักดันให้ภาครัฐต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว
 
ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กล่าวว่า ปีนี้ถือเป็นอีกปีที่ท้าทายสำหรับภาคธุรกิจ โดยภาคการเงินเผชิญกับความท้าทาย จากการเติบโตของสินเชื่อที่ต่ำ และความเสี่ยงด้านหนี้เสีย
ซึ่งจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มเปราะบาง และผู้ที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทำให้ธนาคารต้องให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง และร่วมกับภาครัฐในการออกมาตรการเพิ่มเติม เช่น โครงการ "คุณสู้ เราช่วย" นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานของภาคธนาคาร ในมุมมองของนักลงทุนยังสะท้อนถึงความเปราะบาง โดย P/B Ratio อยู่ที่ 0.7 ซึ่งยังคงต่ำกว่า 1 ต่อเนื่อง รวมทั้งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ที่ 1.4 และต่ำกว่าธนาคารในภูมิภาคอื่นๆ อย่างมาก และภาพคล้ายๆ กันก็คือ ประมาณ 60% ของจำนวนบริษัทที่จดทะเบียนทั้งหมดใน SET มี P/B Ratio ต่ำกว่า 1 เช่นกัน
 
ทั้งนี้ ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายที่รุนแรงยิ่งขึ้นจาก ทั้ง Global Regional และ National เมกะเทรนด์หลายประการ เช่น ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาเทคโนโลยี และสังคมผู้สูงอายุ เศรษฐกิจนอกระบบสูง หนี้ครัวเรือนสูง หนี้สาธารณะสูง ความเหลื่อมล้ำสูง และที่ล่าสุดก็คือ Trump Impact ความสามารถในการแข่งขันต่ำ ease of doing business ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ จะนำไปสู่จุดเปลี่ยน หรือ Inflection Point ที่ต้องการการปรับตัวอย่างเร่งด่วนในหลากหลายมิติ ธนาคารจึงให้ความสำคัญกับการปรับตัว และความพร้อมที่จะพัฒนากลยุทธ์ และผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ ท่ามกลางทิศทางเศรษฐกิจ และโลกการลงทุนที่เปลี่ยนไป เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทุกมิติของการลงทุน ซึ่งการจัดงานสัมมนา "Reshaping Investment Paradigm" เปิดโลกทัศน์ใหม่แห่งการลงทุน เพื่อให้ลูกค้า ประชาชนได้รับทราบถึงทิศทางเศรษฐกิจ การลงทุน ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีข้อมูลที่รอบด้านเพียงพอ และทันต่อสถานการณ์ในการวางแผนและรักษาความมั่งคั่งของพอร์ตลงทุนอย่างยั่งยืน
 
ขณะที่ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทิศทางของสงครามการค้าว่า สงครามการค้ารอบใหม่ หรือ Trade War 2.0 แตกต่างจาก Trade War รอบแรก โดยทรัมป์มีแนวโน้มจะกีดกันทางการค้ากับทุกประเทศคู่ค้าที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ รวมทั้งประเทศไทย ต่างจากรอบแรกที่เน้นการเก็บภาษีไปที่จีน
 
ดร.มานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการฝ่าย Chief Investment Office ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การที่สหรัฐฯ จะเก็บภาษีนำเข้าจากหลายประเทศคู่ค้า มีสาเหตุมาจากการที่สงครามการค้ารอบแรกที่มุ่งเน้นเก็บภาษีนำเข้าจากจีนเป็นหลักนั้น ไม่ได้ส่งผลเสียกับจีนมากเท่าที่สหรัฐฯ คาดการณ์ จากการที่จีนมีการ Relocation การผลิตไปยังประเทศอื่น โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งส่งผลดีกับเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนไปด้วย ดังนั้น สงครามการค้ารอบนี้มีโอกาสที่ทรัมป์จะเก็บภาษีนำเข้าจากหลายประเทศคู่ค้า และทำให้ผลกระทบกับเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีนและคู่ค้าหลัก อาจสูงกว่าในรอบก่อน
 
ด้านดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ ViaLink และ Siametrics Consulting กล่าวว่า มุมมองเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI เป็นการปฎิวัติยุคใหม่ โดย AI ไม่ได้เป็นเพียงเทคโนโลยีใหม่ แต่เป็นการกำเนิดของระบบเศรษฐกิจอัจฉริยะที่จะเปลี่ยนแปลงทุกอุตสาหกรรม และการปฎิวัติ AI นี้ต่างจากการปฏิวัติเทคโนโลยี ครั้งก่อนๆ ที่เป็นการเพิ่มต้นทุน แต่ AI นั้นมาพร้อมกับการลดต้นทุนและการเพิ่มขีดความสามารถไปพร้อมกัน
 
นายประมุข มาลาสิทธิ์ Head of Chief Investment Office ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า มุมมองการลงทุนปี 2568 โดยมี 6 ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือ เศรษฐกิจโลกยังแข็งแกร่ง ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคุกรุ่น เงินเฟ้อในแต่ละภูมิภาคที่แตกต่าง ความสัมพันธ์ระหว่างหุ้นและตราสารหนี้ที่กลับมาเป็นปกติ เศรษฐกิจยุโรปเปราะบาง และการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของจีน
 
ทั้งนี้ มองว่า ตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2568 นำโดย ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่การปรับขึ้นในรอบนี้จะขยายตัวไปในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งมีมุมมองที่เป็นบวกต่อหุ้นขนาดเล็กสหรัฐฯ และแนะนำการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น สำหรับตลาดเกิดใหม่ เห็นโอกาสการลงทุนในตลาดหุ้นจีน และอินเดีย ด้านตราสารหนี้ มีมุมมองให้คงน้ำหนักการลงทุน (Neutral) บอนด์ยีลด์ทรงตัวอยู่ในระดับสูง แต่ตราสารหนี้ High Yield ของสหรัฐฯ และตราสารหนี้เอกชนยุโรปยังน่าสนใจ ด้านสินค้าโภคภัณฑ์ มองว่า ราคาทองคำจะสามารถทำจุดสูงสุดใหม่ได้อีกรอบ มีปัจจัยหนุนจากธนาคารกลางตลาดเกิดใหม่ และมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมของธนาคารกลางหลายแห่งตลอดปี 2568