Phones





กรุงศรี ออโต้ แนะเทคนิคเลือกหมวกกันน็อกเด็ก ปกป้องชีวิต ลดความสูญเสีย

2025-05-28 16:51:57 104



 
นิวส์ คอนเน็คท์ - ในชีวิตประจำวันที่เร่งรีบของคนไทย รถจักรยานยนต์ที่มีจุดเด่นด้านความสะดวกสบายและคล่องตัว ได้กลายมาเป็นยานพาหนะหลักของหลายครอบครัว รวมถึงครอบครัวที่มีเด็ก อย่างไรก็ตาม การเดินทางด้วยยานพาหนะดังกล่าว อาจแฝงไว้ด้วยความเสี่ยงที่หลายคนคาดไม่ถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเด็กต้องนั่งซ้อนท้ายโดย และไม่มีอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม
 
“กรุงศรี ออโต้” ผู้นำธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ครบวงจร เครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้เล็งเห็นความสำคัญของประเด็นนี้ และต้องการให้ทุกคนสามารถห่างไกลจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น จึงได้สานต่อโครงการ LET’sponsible เพื่อร่วมปลูกฝังความรับผิดชอบต่อสังคมและส่งเสริมความปลอดภัยบนท้องถนนโดยมุ่งหวังให้ผู้ปกครองทราบถึงความสำคัญของการสวมหมวกกันน็อกให้เด็กและปลูกฝังให้พวกเขาเกิดพฤติกรรมสวมใส่หมวกกันน็อกทุกครั้งที่เดินทาง พร้อมแนะนำวิธีเลือกหมวกกันน็อกที่ถูกต้อง
 
เลือกหมวกกันน็อกเด็กที่ใช่ต้องดูอะไรบ้าง
 
การเลือกหมวกกันน็อกสำหรับเด็ก ไม่ใช่แค่เรื่องของขนาดหรือดีไซน์ แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ความสะดวกสบาย และคุณภาพที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเด็กจะได้รับการปกป้องสูงสุดเมื่อเกิดอุบัติเหตุ โดยเมื่อต้องเลือกซื้อหมวกกันน็อกเด็กใหม่ ควรพิจารณาจาก 5 เกณฑ์ ดังนี้
 
ขนาดกระชับ รับศีรษะเด็ก: หมวกนิรภัยที่พอดีกับศีรษะสามารถช่วยลดโอกาสบาดเจ็บที่ศีรษะและสมองได้ถึง 69% และลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ 39% ดังนั้น เพื่อให้หมวกกันน็อกสามารถทำหน้าที่ป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ปกครองควรเลือกซื้อด้วยการวัดขนาดรอบศีรษะของเด็กในส่วนที่กว้างที่สุด บริเวณเหนือคิ้วประมาณ 1 นิ้ว (2.5 เซนติเมตร) หากรอบศีรษะที่วัดได้อยู่ระหว่างหมวกกันน็อก 2 ขนาด ควรเลือกหมวกที่มีขนาดเล็กกว่าเพื่อความกระชับ อีกทั้ง ควรตรวจสอบอีกครั้งว่าไม่มีช่องว่างระหว่างหน้าผากกับหมวกที่สามารถสอดนิ้วเข้าไปได้และเมื่อเขย่าศีรษะเบาๆ หมวกไม่ควรขยับมากเกินไปหรือทำให้รู้สึกบีบรัดจนทำให้รู้สึกอึดอัด
 
มีสายรัดไว้ มั่นใจทุกเวลา: แม้หมวกกันน็อกจะพอดีกับศีรษะ แต่หากไม่มีสายรัดคาง หรือสายรัดไม่แน่นพอดี ก็อาจทำให้หมวกกันน็อกหลุดออกเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้น ผู้ปกครองควรตรวจสอบว่าสายรัดแน่นพอดี ไม่หลวมจนหมวกขยับได้ และไม่แน่นจนเกินไป พร้อมตรวจสอบให้มีระยะห่างระหว่างคางกับสายรัดไม่เกิน 1-2 นิ้วมือ เพื่อความสบายและปลอดภัย นอกจากนี้ สายรัดคางอาจคลายตัวหลังการใช้งาน ผู้ปกครองควรเช็กให้แน่ใจก่อนออกเดินทางทุกครั้ง
 
เลือกหมวกให้โดนใจ เด็กเต็มใจหยิบใส่ทุกวัน: เด็กจำนวนมากไม่ยอมสวมหมวกกันน็อก เพราะรู้สึกอึดอัดหรือหมวกมีน้ำหนักมากเกินไป ด้วยเหตุนี้ การเลือกหมวกที่ระบายอากาศดีและน้ำหนักเบาจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยหมวกกันน็อกควรมีช่องระบายหลายจุด เช่น ด้านบนและด้านหลัง เพื่อลดความร้อนและเหงื่อสะสม นอกจากนี้ อีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้เด็กเต็มใจสวมใส่หมวกกันน็อก คือให้พวกเขามีส่วนร่วมในการเลือกหมวก โดยเลือกแบบที่มีสีสันสดใส หรือลวดลายที่เด็กชื่นชอบ
 
หมวกที่ดี ต้องมีมาตรฐาน: หมวกกันน็อกที่ดีควรผ่านการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ เช่น มอก. ซึ่งควบคุมโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ECE R22.05 (ยุโรป) ที่ทดสอบแรงกระแทก และการดูดซับแรงสะเทือน
 
หมวกเสื่อม เปลี่ยนใหม่ ปลอดภัยกว่า: หมวกกันน็อกมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 3-5 ปี หลังจากนั้นวัสดุอาจเสื่อมสภาพ อีกทั้งหากหมวกผ่านการกระแทกอย่างรุนแรง ควรเปลี่ยนใหม่ทันที เพราะโครงสร้างด้านในอาจเสียหายแม้ภายนอกจะไม่เห็นรอยแตกก็ตาม นอกจากนี้ สำหรับเด็กที่อยู่ในวัยที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้ปกครองควรหมั่นเช็กขนาดของหมวกทุก 6-12 เดือน หากหมวกกันน็อกเริ่มคับหรือเด็กบ่นว่าอึดอัด ควรเปลี่ยนขนาดให้เหมาะสม และที่สำคัญห้ามใช้หมวกกันน็อกมือสอง เพราะอาจมีรอยร้าวหรือเสื่อมสภาพจากการใช้งานก่อนหน้า ทำให้ความสามารถในการป้องกันลดลง และเพิ่มความเสี่ยงเมื่อเกิดอุบัติเหตุ
 
การสวมหมวกกันน็อกให้เด็กทุกครั้งก่อนออกเดินทางไม่ว่าใกล้หรือไกล เป็นหนึ่งสิ่งที่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม เราทุกคนสามารถลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝัน เพียงเริ่มต้นจากการสวมใส่หมวกกันน็อกให้กับตนเองและลูกหลาน เพื่อปกป้องชีวิตและอนาคตของทุกคน มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ LET’sponsible กับกรุงศรี ออโต้ สร้างความปลอดภัยบนท้องถนนและส่งต่อความรับผิดชอบให้กับสังคมไทยไปด้วยกัน
 
รับชมวิดีโอเพิ่มเติมภายใต้โครงการ LET’sponsible ได้ที่ https://www.youtube.com/playlist?list=PLoHwRneB14si4gq3_z1T8D2tnV-YFqj8u
 
รู้หรือไม่:
 
เด็กที่นั่งด้านหน้าของผู้ปกครอง มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่ศีรษะ/ใบหน้ามากกว่าเด็กที่นั่งด้านหลังถึง 2 เท่า
 
หมวกกันน็อกสามารถลดการบาดเจ็บที่ศีรษะได้ 72% และความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ถึง 39%
 
อุบัติเหตุของรถจักรยานยนต์ที่วิ่งด้วยความเร็ว 48 กม./ชม. เปรียบเสมือนการตกจากอาคาร 3 ชั้น