Phones





รฟม.บอร์ดอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าภูเก็ต3.5หมื่นล.

2020-10-21 16:29:57 554




นิวส์ คอนเน็คท์ - รฟม. เผยการประชุมบอร์ดวันนี้อนุมัติให้ดำเนินโครงการรถไฟฟ้ารางเบาภูเก็ตมูลค่า 3.5 หมื่นล้านบาท พร้อมเสนอก.คมนาคม คณะกรรมการ PPP ต่อไป คาดเสนอครม.ได้ในเดือน ต.ค. 64 ขณะที่กรณีศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวการปรับเกณฑ์การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม รฟม.เตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ดำเนินควบคู่กับการเปิดให้ยืนซ่องประมูลในวันที่ 9 พ.ย.นี้


เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด รฟม.) ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบผลการศึกษาวิเคราะห์การดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 42 กิโลเมตร (กม.) วงเงินประมาณ 35,000 ล้านบาท โดยหลังจากนี้ รฟม. จะนำเสนอผลการศึกษาฯ ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบต่อไป


ทั้งนี้ภายหลังจากเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้วขั้นตอนต่อไปจะเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อนำเข้าบรรจุเป็นวาระในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาต่อไป ทั้งนี้คาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาเห็นชอบได้ในเดือน ต.ค.64 และหากเห็นชอบ รฟม. จะประกาศเชิญชวนคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนได้ในช่วงต้นปี 65 เพื่อเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการ และจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 69


นายภคพงศ์ กล่าวถึงกรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวกรณีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ได้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองฉุกเฉินในการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า รฟม.เตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด หลังจากศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ทุเลาการประกาศใช้เอกสารประกวดราคา (RFP) เพิ่มเติม ที่กำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาข้อเสนอเอกชนตามคะแนนด้านเทคนิค 30 คะแนน และด้านราคา 70 คะแนน เป็นผลให้ รฟม.ต้องกลับไปใช้หลักเกณฑ์พิจารณาด้านราคา 100 คะแนนตามเดิม


อย่างไรก็ตามในระหว่างการยื่นอุทธรณ์ทางรฟม.ก็ต้องดำเนินการให้เอกชนยื่นซองข้อเสนอการประกวดราคาตามกรอบระยะเวลาเดิมในวันที่ 9 พ.ย.นี้ และในระหว่างนี้ก็จะนัดประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ภายในวันที่ 8 พ.ย. 63 เพื่อพิจารณากระบวนการประกวดราคา โดยหาก รฟม.ดำเนินการเปิดรับซอง และเปิดข้อเสนอในซองที่ 1 ด้านคุณสมบัติแล้ว อาจมีการชะลอเปิดซอง 2 ด้านเทคนิค เพื่อรอการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ทั้งนี้อยู่ที่ดุลพินิจการพิจารณาของคณะกรรมการ ม.36


โดยตามกำหนดนั้นจะต้องเปิดซองที่ 1 ด้านคุณสมบัติในวันที่ 23 พ.ย. 63 และจะใช้ระยะเวลาในการพิจารณาคุณสมบัติประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนจะเปิดซ่องที่ 2 ด้านเทคนิค และเปิดซองที่ 3 ด้านราคา ต่อไป อย่างไรก็ตามในกรณีที่หากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งศาลปกครองกลางภายหลังจากเปิดซ่องราคาไปแล้วนั้นก็ต้องมาดำเนินการในขั้นตอนการประมูลใหม่


 


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews