Phones





คมนาคมสั่งทุกหน่วยติดตามผลกระทบแผ่นดินไหวใกล้ชิด

2025-03-29 08:26:29 128



นิวส์ คอนเน็คท์ - "สุริยะ" เปิดภาพรวมเหตุแผ่นดินไหว 28 มี.ค. ระบุการคมนาคมทางถนน-ราง เร่งตรวจสอบทั้งโครงสร้าง ย้ำ! ต้องปลอดภัยสูงสุดก่อนให้ประชาชนใช้งาน ทางอากาศ-น้ำ ราบรื่น ไร้ผลกระทบ สั่งทุกหน่วยเฝ้าติดตามใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว วันที่ 28 มีนาคม 2568 ทางกระทรวงฯ ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยคมนาคม โดยมี นายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยคมนาคม เป็นผู้กำกับดูแล ทั้งนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการเฝ้าติดตามสถานการณ์ด้านคมนาคมทั่วทั้งประเทศอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อมุ่งหวังให้ประชาชนมีความปลอดภัยสูงสุด และเตรียมการรองรับหากเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ

สำหรับเหตุการณ์ในวันนี้ตั้งแต่ช่วงที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว จนถึงเวลา 23.00 น. ได้สรุปเหตุการณ์ได้ดังนี้ โดยภาคคมนาคมทางถนน ได้ทำการปิดใช้งาน “ทางด่วนดินแดง”เพื่อทดสอบความปลอดภัยโครงสร้างชั่วคราว ที่พังลงมา และจะมีการแจ้งให้ทราบเวลาเปิดใช้งานต่อไป แนะนำให้ประชาชนควรหลีกเลี่ยง เส้นทางเลี่ยงทางลงดินแดง โดยรถที่มาจากทางพิเศษเฉลิมมหานครจากทางเข้าพระรามที่4 (ราบบ่อนไก่) ให้ใช้ทางพิเศษศรีรัชเพื่อมุ่งหน้าทางลงพหลโยธิน (อนุสาวรีย์ชัยฯ)หรือทางลง พระราม9 (รัชดา) เพื่อไปดินแดงและถนนวิภาวดี สำหรับรถที่มาจากทางพิเศษศรีรัชให้ใช้ทางลงเพลินจิต(ฝั่งเหนือ) เพื่อใช้ถนนอโศก มุ่งหน้าไปดินแดง และถนนวิภาวดีได้ ขณะที่รถที่ต้องการมุ่งไปบางนา ให้ใช้ทางพิเศษศรีรัชที่ด่านบางซื่อหน้าสถานีขนส่งหมอชิต 2 หรือด่านคลองประปา 2 หน้ากระทรวงการคลัง

ส่วนสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เปิดใช้งานทุกเส้น ขณะเดียวกัน องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ยังได้สนับสนุน รถโดยสารให้บริการในเขต กทม และปริมณฑล และพร้อมให้บริการกับประชาชนตลอดทั้งคืน

นายสุริยะกล่าวต่อถึงภาคคมนาคมระบบราง ขณะนี้รถไฟฟ้าทุกสายปิดให้บริการ เพื่อตรวจสอบความมั่นคงเเข็งแรงจนถึงช่วงเช้าวันที่ 29 มีนาคม 2568 โดยหากมีความคืบหน้าจะแจ้งการเปิดให้บริการต่อไป ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สามารถเดินขบวนรถได้ทุกขบวนทุกเส้นทางตามปกติ โดยกลับมาใช้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เป็นสถานีต้นทาง-ปลายทางตามเดิม

ขณะที่ภาคคมนาคมทางอากาศ ท่าอากาศยานทุกแห่งไม่ได้รับความเสียหาย และสามารถเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการเป็นปกติ ซึ่งระหว่างวันภายหลังจากที่มีเหตุแผ่นดินไหว ได้สั่งการหยุดดำเนินการชั่วคราว เป็นระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จึงทำให้เที่ยวบินมีการดีเลย์ เนื่องจากผู้ใช้บริการไม่สามารถเดินทางไปสนามบินได้ แต่อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้ท่าอากาศยานที่มีปัญหาดังกล่าว ขยายเวลาในการใช้บริการเพิ่มเติมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งประกอบไปด้วยท่าอากาศยานในจังหวัด นครพนม , อุดรธานี , สุราษฎร์ธานี , ร้อยเอ็ด , นครศรีธรรมราช , พิษณุโลก , เลย และ สกลนคร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ใช้บริการอย่างเต็มความสามารถ

ส่วนภาคคมนาคมทางน้ำ ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ โดยกรมเจ้าท่า (จท.) ร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพิ่มเที่ยวเรือและจำนวนเรือเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ส่วนเรือข้ามฟาก ยังคงเปิดให้บริการตามปกติเช่นกัน และขยายเวลาให้บริการด้านการขนส่งทางเรือทุกประเภท เพื่อระบายและลดความแออัดของผู้โดยสาร