Phones





FETCO ชี้ดัชนีเชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้า ‘ซบเซา’

2025-05-08 16:39:45 32



นิวส์ คอนเน็คท์ - FETCO เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้ายังคงอยู่ในเกณฑ์ ‘ซบเซา’ ที่ระดับ 64.10 โดยนักลงทุนคาดหวังปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเงินทุนไหลเข้า ปัจจัยฉุดคือสงครามการค้าและความขัดแย้งระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในเดือนเมษายน 2568 (สำรวจระหว่างวันที่ 21-30 เมษายน 2568) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้ายังคงอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” ที่ระดับ 64.10 นักลงทุนมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการไหลเข้าของเงินทุน และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สงครามการค้า รองลงมาคือสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และสถานการณ์การเมืองในประเทศ
 
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือนเมษายน 2568 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้ 

• ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (กรกฎาคม 2568) อยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” (ช่วงค่าดัชนี 40-79) ที่ระดับ 64.10
• ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคล กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” ในขณะที่กลุ่มกลุ่มนักลงทุนสถาบัน อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง”  
• หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดธนาคาร (BANK)
• หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดยานยนต์ (AUTO)
• ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
• ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สงครามการค้า
ผลสำรวจ ณ เดือนเมษายน 2568 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับเพิ่ม 9.9% อยู่ที่ระดับ 42.65 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 60.00 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับเพิ่ม 17.7% อยู่ที่ระดับ 130.77 และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศทรงตัวอยู่ที่ระดับ 66.67

ในเดือนเมษายน 2568 ตลาดทุนไทยเผชิญกับความผันผวนอย่างมากจากทั้งการประกาศมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ การที่เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวช้า ภาคการท่องเที่ยวไม่เติบโตตามคาด รวมถึงการที่ Moody’s rating ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยเป็นเชิงลบ (Negative Outlook) จากเดิมที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook) อย่างไรก็ตาม ยังมีแรงหนุนจากการที่ กนง. ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 1.75% โดย SET Index ณ สิ้นเดือนเมษายน 2568 ปิดที่ 1,197.26 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.4% จากเดือนก่อนหน้า ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนเมษายน 2568 อยู่ที่ 42,025 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 14,588 ล้านบาท ตั้งแต่ต้นปี 2568 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 54,567 ล้านบาท

ปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตามได้แก่ นโยบายการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ระหว่างสหรัฐฯและประเทศเศรษฐกิจหลัก การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศทั้งในรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่คลี่คลาย และความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถานในบริเวณแคว้นแคชเมียร์กลับมารุนแรงขึ้นอีกครั้ง ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การเจรจาการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ การเพิ่มเม็ดเงินลงทุนในตลาดหุ้นไทยภายในเดือน พ.ค.—มิ.ย. 2568 ผ่านการสับเปลี่ยนกองทุน LTF มายังกองทุน ThaiESGX และเปิดให้ลงทุนเพิ่มในกองทุน ThaiESGX เพื่อลดหย่อนภาษีปี 2568 ผ่านการลงทุนใน ThaiESGX ได้สูงสุด 6 แสนบาท