Phones





TPCH ปักหมุดปี 66 ลุยธุรกิจพลังงานทดแทนตปท.

2023-02-20 10:17:29 135




นิวส์ คอนเน็คท์ - TPCH โชว์ผลงานปี 65 มีกำไรสุทธิ 179.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.4% เทียบกับของปีก่อน อานิสงส์รับรู้รายได้โครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล 10 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตรวม 106.8 เมกะวัตต์ บอร์ดไฟเขียวจ่ายปันผลเป็นเงินสด 0.183 บาท/หุ้น ฟากบิ๊กบอส “กนกทิพย์ จันทร์พลังศรี” ระบุปี 66 ลุยธุรกิจพลังงานทดแทนในต่างประเทศ ทั้ง “กัมพูชา-สปป.ลาว-เวียดนาม” เต็มสูบ  เตรียม COD โรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล แม่ลาน-บันนังสตา ภายในไตรมาส 2/66 พร้อมเดินหน้าพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะ เพิ่ม 1-2 โครงการ ตั้งเป้าหมายมีกำลังการผลิตรวม 300 เมกะวัตต์ ในปี 2568

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 2565 (สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565) มีกำไรสุทธิ 179.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.4% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสุทธิ 135.40 ล้านบาท และมีรายได้รวม 2,647.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีรายได้รวม 2,470.39 ล้านบาท 

ปัจจัยที่สนับสนุนให้มีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ของโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลครบ 10 แห่ง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวล CRB, MWE, MGP, TSG, PGP, SGP , PTG ,TPCH 5 , TPCH 1 และ TPCH 2 ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 106.8 เมกะวัตต์

“ภาพรวมผลประกอบการของปี 2565 บริษัทฯ สามารถทำผลงานได้เป็นที่น่าพอใจ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้ง 10 แห่ง สามารถเดินเครื่องได้ตามปกติ ในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าขยะ สยาม พาวเวอร์ (SP) ขนาดกำลังการผลิต 9.5 เมกะวัตต์ ขณะนี้ อยู่ในช่วงของปรับจูนเครื่องจักรและคาดว่า จะสามารถรับรู้รายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2566” นางกนกทิพย์กล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการอนุมัติให้จ่ายปันผลงวดประจำปี 2565 ให้กับผู้ถือหุ้นเป็นเงินสด 0.183 บาท/หุ้น ซึ่งวันกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record date)ในวันที่ 28 เมษายน 2566 และกำหนดวันที่จ่ายปันผลเป็นวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ทั้งนี้ การจ่ายเงินปันผลดังกล่าวขึ้นอยู่กับการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทในวันที่ 19 เมษายน 2566


ด้านนายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH กล่าวว่า สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2566 บริษัทฯ มุ่งเน้นการขยายธุรกิจพลังงานทดแทนไปในต่างประเทศ ประกอบด้วย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เวียดนาม และกัมพูชา โดยอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ คาดว่า จะเห็นความชัดเจนสำหรับโครงการแรกในรูปแบบ IPP ประมาณไตรมาส 1/66

สำหรับแผนการลงทุนในประเทศ อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะ 5-7 โครงการ ภายใต้บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด (SP) ซึ่ง TPCH ถือหุ้นในสัดส่วน 50% เพื่อเข้าร่วมโครงการรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐ คาดว่า จะเห็นความชัดเจนภายในปีนี้ ประมาณ 1-2 โครงการ โดยเป็นโครงการรูปแบบ VSPP ทั้งหมด

ในส่วนของโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล แม่ลาน กำลังการผลิตรับซื้อไม่เกิน 2.85 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล บันนังสตา กำลังการผลิตรับซื้อไม่เกิน 2.85 เมกะวัตต์ ขณะนี้ การก่อสร้างมีความคืบหน้ากว่า 92% แล้ว และเริ่มทดสอบระบบเพื่อเตรียมความพร้อมในการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ คาดว่า จะสามารถ COD ได้ภายในครึ่งปีแรกของปี 2566

“ในปีนี้ TPCH พร้อมเดินหน้าศึกษาและพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนในหลากหลายรูปแบบ ทั้ง พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความชำนาญในพื้นที่ในต่างประเทศ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ ส่วนในประเทศยังคงพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะ รวมทั้ง พลังงานประเภทชีวมวลที่บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว และล่าสุด บริษัทฯ ได้ลงนามเซ็นสัญญาการซื้อขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน Renewable Energy Certificate : REC 2022 ที่บริษัทได้รับบางส่วน กับบริษัท คันไซ อิเล็กทริค เพาเวอร์ จากประเทศญี่ปุ่น จะช่วยส่งเสริมให้มีรายได้เข้ามาเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะทำสัญญาการซื้อขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนฯ ให้กับลูกค้าที่สนใจอีกหลายราย จึงมั่นใจว่า ปัจจัยเหล่านี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้ผลงานในปีนี้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้และสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นได้” นายเชิดศักดิ์กล่าวในที่สุด

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายการมีกำลังการผลิตรวม 300 เมกะวัตต์ แบ่งออกเป็น โรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล 100 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะ 50 เมกะวัตต์ และโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และลมในต่างประเทศ 150 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568

ซึ่งปัจจุบัน TPCH มีการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ของโครงการโรงไฟฟ้า 11 แห่ง ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล CRB, MWE, MGP, TSG, PGP, SGP , PTG ,TPCH 5 , TPCH 1 และ TPCH 2 รวมทั้งโครงการโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะ สยาม พาวเวอร์ (SP) ขนาดกำลังการผลิต 9.5 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 116.3 เมกะวัตต์