Phones





SMD รุกหนักตลาด Wellness เสริมแกร่งรายได้ประจำ

2023-10-11 14:15:12 149



 
นิวส์ คอนเน็คท์ - SMD รุกหนักขยายธุรกิจเครื่องมือแพทย์เฉพาะทางด้านเวลเนส ล่าสุดลงนามในสัญญาการเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย เครื่องออกซิเจนความดันสูงไม่เกิน 1.5 ATA ในรูปแบบนอนรับบริการ กับ MEDIconet ผลิตภัณฑ์จากประเทศเกาหลีใต้ ระยะเวลาการเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย 5 ปี
 
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 ดร วิโรจน์ วสุศทธิกลุกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษํท เซนต์เมด จำกัด (มหาชน) หรือ SMD เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามในสัญญาการเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย เครื่องออกซิเจนความดันสูงไม่เกิน 1.5 ATA ในรูปแบบนอนรับบริการ กับ MEDIconet ผลิตภัณฑ์จากประเทศเกาหลีใต้ ระยะเวลาการเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย 5 ปี โดย Business Model คือ แบ่งรายได้กับทางโรงพยาบาล คลินิก เวลเนส ทั่วประเทศ ในเงื่อนไขที่ทุกฝ่ายรวมทั้งผู้รับบริการเข้าถึงได้ง่าย จะทำให้บริษัทสามารถสร้างรายได้ประจำที่สม่ำเสมอ (Recurring Income) เพื่อการเติบโตแบบยั่งยืน
 
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์ทีได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงในประเทศเกาหลีใต้ อีกทั้งมีติดตั้งใช้งานอยู่ในโรงพยาบาล คลินิก และเวลเนส ที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยอยู่แล้วเป็นจำนวนมาก ทำให้เซนต์เมด (SMD) ขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจเครื่องออกซิเจนความดันสูง (mHBOT - Mild Hyperbaric Oxygen Chamber) ในประเทศไทยได้โดยทันที เนื่องจากบริษัทฯ มีเครื่องออกซิเจนความดันสูงไม่เกิน 1.39 ATA ในรูปแบบนั่งรับบริการ ติดตั้งให้บริการในประเทศไทยอยู่บางส่วนแล้ว และบริษัทฯ คาดว่าจะติดตั้งเครื่องออกซิเจนความดันสูงไม่เกิน 1.39 ATA ในรูปแบบนั่งรับบริการ (mHBO - Mild Hyperbaric Oxygen Chamber) ตามสถานพยาบาลและคลีนิคต่างๆ ได้อีกประมาณ 10 เครื่องภายในสิ้นปีนี้
 
อย่างไรก็ตาม เครื่องออกซิเจนความดันสูงไม่เกิน 1.5 ATA ในรูปแบบนอนรับบริการ มีต้นทุนราคาที่ต่ำและติดตั้งได้ง่ายกว่า เครื่องออกซิเจนความดันสูงไม่เกิน 1.39 ATA ในรูปแบบนั่งรับบริการ (mHBO - Mild Hyperbaric Oxygen Chamber) ซึ่งจะทำให้บริษัทขยายธุรกิจนี้ได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
 
ทั้งนี้ บริษัทได้เริ่มมีการปรับโหมดธุรกิจครั้งใหญ่ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา หรือทรานฟอร์เมชั่น จากธุรกิจ เทรดดิ้งคัมพานี กระจายไปสู่การมีรายได้ประจำสม่ำเสมอรายเดือน หรือ Recurring Income ทั้งในรูปแบบ Revenue Sharing และในรูปแบบ เช่าใช้ หรือ เช่าซื้อ เครื่องมือแพทย์ต่างๆ ของบริษัทเพื่อขยายฐานลูกค้าเพิ่ม 
 
“แม้ว่ายอดขายในส่วนของธุรกิจเทรดดิ้ง ยังมีสัดส่วนมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ แต่หากมองไปในระยะ 1-2 ปี ข้างหน้า ธุรกิจในรูปแบบ Revenue Sharingและในรูปแบบ เช่าใช้ หรือ เช่าซื้อ เครื่องมือแพทย์ต่างๆ ของบริษัทจะสร้างผลตอบแทนที่มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ” ดร.วิโรจน์ กล่าว
 
นอกจากนี้ บริษัทได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า คณะกรรมการบริษัทได้มีการประชุม เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา และมีมติอนุมัติ โครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อการบริหารทางการเงินด้วยวงเงินที่ใช้ไม่เกิน 120 ลบ. จำนวน หุ้นไม่เกิน 22 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 9.79% ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค.66-30 มี.ค.67 โดยได้ดำเนินการเริ่มซื้อหุ้นคืนครั้งแรก เมื่อวันที่ 9 - 10 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา รวมหุ้นที่ซื้อคืนทั้ง 2 วัน เป็นจำนวน 600,000 หุ้น รวมเป็นเงิน 2,844,652 บาท
 
ทั้งนี้ บริษัทมีกำไรสะสมเท่ากับ 466.21 ล้านบาท มีหนี้สินถึงกำหนดชำระภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่เริ่มซื้อหุ้นคืนเท่ากับ 51.8 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีกระแสเงินสด 357.21 ล้านบาท และมีอัตราส่วนสินทรัพย์หมุนเวียน 12.29 เท่า จึงมีสภาพคล่องส่วนเกินเพียงพอต่อการซื้อหุ้นคืน โดยเหตุผลของการซื้อหุ้นคืน เพื่อเป็นการบริหารสภาพคล่องส่วนเกินของบริษัทให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนหรือผู้ถือหุ้นของบริษัท ในศักยภาพการสร้างรายได้และกำไรในอนาคตของบริษัท รวมถึงฐานะการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัท