Phones





BBL ผนึกพลังหน่วยงานท้องถิ่น-ชุมชน จ.สมุทรสาคร แก้วิกฤตสิ่งแวดล้อม

2024-02-23 21:10:15 61



 
นิวส์ คอนเน็คท์ – BBL รุกขับเคลื่อนโครงการ ‘Bualuang Save the Earth : รักษ์ท่าจีน’ จับมือหน่วยงานราชการท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายชุมชน จังหวัดสมุทรสาคร ลุยติดตั้งทุ่นดักขยะ ประเดิมพื้นที่นำร่อง ‘คลองหลวงสหกรณ์ และคลองพิทยาลงกรณ์’ ตำบลโคกขาม หวังลดปริมาณขยะที่ไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีนและอ่าวไทย ปีละกว่า 148 ตัน
 
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารได้เริ่มต้นดำเนินโครงการ ‘Bualuang Save the Earth : รักษ์ท่าจีน’      เพื่อร่วมดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะในแม่น้ำท่าจีน ซึ่งเป็น 1 ใน 5 แม่น้ำสายหลักที่ไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย โดยปัจจุบันได้เริ่มดำเนินงานในระยะที่ 1 อย่างต่อเนื่อง
 
ล่าสุดได้ร่วมกับหน่วยงานราชการท้องถิ่น ประชาชน และชุมชนในพื้นที่ ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน สมาคมการประมงจังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาสมุทรสาคร องค์การบริหารส่วนตำบลโคกขาม วัดสหกรณ์โฆสิตาราม และประชาชนในพื้นที่ เพื่อติดตั้งเครื่องมือดักขยะในพื้นที่นำร่องบริเวณคลองหลวงสหกรณ์ และคลองพิทยาลงกรณ์ ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร หลังจากศึกษาข้อมูลและสำรวจพื้นที่ร่วมกันพบปัญหาขยะจำนวนมากที่ไหลจากชุมชนต่างๆ มารวมบริเวณนี้ก่อนจะถูกกระแสน้ำพัดพาออกปากแม่น้ำท่าจีนและอ่าวไทย
 
สำหรับเครื่องมือดักขยะที่ติดตั้งในครั้งนี้ จะประกอบด้วย 3 ประเภทเครื่องมือ ได้แก่ ทุ่นดักขยะ (Boom) ผลิตจากพลาสติก HDPE สีเหลือง ขนาด 0.35x0.50 เมตร พร้อมตาข่ายความยาว 15 เมตร และลึกลงไปจากผิวน้ำ 50 เซนติเมตร อายุการใช้งาน 5-7 ปี กระชังไม้ไผ่ดักขยะ เป็นโครงไม้ไผ่ติดอวน ขนาด 3x3 เมตร อายุใช้งาน 3-5 ปี และเครื่องมือดักขยะแบบปักหลัก เป็นโครงไม้ไผ่ผูกอวน ขนาด 5x10 เมตร อายุใช้งาน 3-5 ปี ซึ่งเครื่องมือทั้ง 3 ประเภทเหมาะสมกับสภาพกระแสน้ำ สามารถรองรับกระแสน้ำขึ้นน้ำลงได้ จะเป็นตัวช่วยดักขยะที่ไหลมาตามน้ำไม่ให้ไหลต่อลงสู่แม่น้ำท่าจีนและทะเลอ่าวไทย
 
ขณะเดียวกัน ได้ทำการติดตั้ง “น้องจุด” หรือ ฉลามวาฬพี่ใหญ่แห่งท้องทะเล เป็นที่พักขยะแบบถาวร สำหรับพักขยะประเภทขวดพลาสติก ทั้งจากการดักจับบนผิวน้ำและเกิดขึ้นบนบก ซึ่งขวดพลาสติกเครื่องดื่มเป็นหนึ่งในขยะทะเลที่ถูกพบมากในประเทศไทย โดยจะตั้งวาง “น้องจุด” ไว้ 2 จุดในบริเวณลานวัดสหกรณ์โฆสิตาราม ซึ่งเป็นพื้นที่การจัดกิจกรรมและตลาดนัดเป็นประจำ ทั้งนี้ อุปกรณ์ทุกประเภทดังกล่าวจะมีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้ามาดูแลเป็นประจำ โดยตักขยะเพื่อนำไปคัดแยกและรีไซเคิล ส่วนขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้แล้ว หรือขยะกำพร้า จะถูกส่งไปทำเชื้อเพลิงทดแทนให้เกิดประโยชน์ต่อไป
 
นอกจากการติดตั้งเครื่องมือดักขยะแล้ว คณะทำงานยังได้เริ่มดำเนินงานตามแผนในระยะ 2 โดยจัดกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และปลูกฝังในเรื่องการคัดแยกขยะในครัวเรือนให้แก่ชุมชน และโรงเรียนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และต่อยอดสู่การเพิ่มมูลค่าและเป็นรายได้ให้แก่ครอบครัว และเมื่อชุมชนเริ่มมีองค์ความรู้และขยะที่คัดแยกออกมาได้มีปริมาณที่มากขึ้น ธนาคารจะเริ่มพัฒนาและต่อยอดสู่การก่อตั้งโครงการธนาคารขยะในชุมชนต้นแบบ ให้ประชาชนและบริษัทรับซื้อ เข้ามาแลกเปลี่ยนซื้อขายขยะในพื้นที่ เพื่อให้จัดการขยะได้อย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพ
 
“โครงการ ‘Bualuang Save the Earth : รักษ์ท่าจีน’ เกิดขึ้นเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาขยะทะเล โดยแม่น้ำท่าจีน เป็น 1 ใน 5 แม่น้ำสายสำคัญที่จะไหลลงสู่ทะเล และพบปัญหาขยะที่มีมากกว่า 14 ล้านชิ้น หรือประมาณ 148 ตันต่อปี เป็นเรื่องใหญ่มากซึ่งเรารอไม่ได้ ต้องเร่งกำจัดขยะเหล่านี้ออกให้เร็วที่สุด ควบคู่กันก็คือ ต้องสกัดไม่ให้ขยะใหม่ไหลลงไปสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น อันเป็นที่มาของการติดตั้งเครื่องมือดักขยะที่เราทำในครั้งนี้ ดังจะเห็นว่าอยู่ในแผนระยะแรกของโครงการที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน ขณะเดียวกันเรามีสมาชิก ‘Bualuang Green Team’ และทีมเจ้าหน้าที่จิตอาสาของธนาคาร ทั้งจากสำนักงานใหญ่ และพนักงานสาขาในพื้นที่ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลโคกขาม ลงพื้นที่ร่วมกิจกรรม โดยจะมีการบันทึกข้อมูลเพื่อวัดปริมาณขยะแต่ละประเภทและวิเคราะห์ที่มาของขยะ เพื่อจะได้เข้าใจปัญหาอย่างชัดเจนและแก้ไขไปจนถึงต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหา อันจะทำให้เป็นการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน” นายกอบศักดิ์ กล่าว
 
อย่างไรก็ตาม นอกจากโครงการรักษ์ท่าจีน ซึ่งอยู่ภายในโครงการ ‘Bualuang Save the Earth’ แล้ว ธนาคารยังมีการจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงภายในอาคารสำนักงานใหญ่ของธนาคารกรุงเทพและสาขาธนาคาร โดยร่วมกันรณรงค์และสร้างจิตสำนึกในการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากที่สุด เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดการสร้างขยะ ตอบโจทย์หนึ่งในนโยบายด้านความยั่งยืนของธนาคาร ที่ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจน ใน 4 แนวทาง คือ 1.การบริหารจัดการความเสี่ยง 2.การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล 3.การกำกับดูแลกิจการที่ดี และ 4.การสร้างสรรค์คุณค่าที่ยั่งยืนต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นรากฐานในการดำเนินธุรกิจมาตลอด 80 ปีของธนาคาร ตามเจตนารมณ์ของการเป็น “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” และตอกย้ำความมุ่งมั่นที่จะเป็นธนาคารที่่ได้รับความไว้วางใจสูงสุดด้วยการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
 
นายวสันต์ แก้วจุนันท์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร และผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตำบลโคกขาม มากว่า 37 ปี กล่าวว่า การติดตั้งเครื่องมือดักขยะตามแผนงานโครงการ ‘Bualuang Save the Earth : รักษ์ท่าจีน’ ของธนาคารกรุงเทพ น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาขยะที่จะไหลลงสู่ทะเลได้เป็นอย่างดีและเห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น เนื่องจากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พื้นที่เมืองเริ่มขยายตัวมากขึ้น มีหมู่บ้านจัดสรรและโรงงานเพิ่มขึ้น ตามมาด้วยปัญหาขยะและน้ำเสียที่ไหลลงแม่น้ำลำคลอง กระทบต่อสภาพแวดล้อมทั้งส่งผลให้พื้นที่การทำประมงและพื้นที่ธรรมชาติถูกรุกล้ำมากขึ้น ชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่ทำอาชีพประมงชายฝั่ง หรือการทำวังกุ้ง ก็ทำได้ลำบาก หาลูกกุ้งธรรมชาติได้ยากมากขึ้น หรือแม้แต่การลงเล่นน้ำในคลองก็ทำไม่ได้ เพราะน้ำไม่สะอาด
 
“เราหวังว่าการติดตั้งทุ่นดักขยะ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยดักขยะไม่ให้ไหลลงสู่ชายฝั่งและทะเล ที่เป็นหนึ่งในต้นเหตุสำคัญของปัญหา จากนั้นคงต้องช่วยกันฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง พวกลูกกุ้งธรรมชาติจะได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อมีการส่งเสริมความรู้เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในการดูแลสิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชนอย่างต่อเนื่อง ก็เชื่อว่าเมื่อเด็กมีนิสัยที่ดีติดตัว ก็จะช่วยเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้นได้ในอนาคต” นายวสันต์ กล่าว
 
โครงการ ‘Bualuang Save the Earth : รักษ์ท่าจีน’ เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ของธนาคารกรุงเทพที่ต้องการเข้าไปแก้ไขปัญหาขยะทะเล โดยได้ร่วมลงนามใน “บันทึกแสดงเจตจำนงว่าด้วยความร่วมมือในการจัดการขยะทะเล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในบริเวณปากแม่น้ำ” เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ณ จังหวัดภูเก็ต เพื่อเข้าร่วมโครงการในระยะนำร่อง จำนวน 5 แห่ง แบ่งพื้นที่รับผิดชอบแก้ไขปัญหาขยะใน 5 แม่น้ำสายหลักที่ไหลลงสู่ทะเล (แผนงานระยะ 5 ปี ระหว่าง ปี 2566 – 2570) โดยธนาคารกรุงเทพ ดำเนินการแก้ปัญหาขยะใน ‘แม่น้ำท่าจีน’ และได้ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานราชการท้องถิ่นและชุมชน โดยตัดสินใจวางแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่ร่วมกันอย่างครอบคลุมทุกมิติ ภายใต้แนวทางแก้ปัญหาครบวงจร เพิ่มการมีส่วนร่วม และสร้างรายได้ให้ชุมชน เพื่อบรรลุเป้าหมายการจัดการขยะทะเลอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน