Phones





KTB ชี้โควิด-19 พลิกโฉม Healthcare

2020-04-13 16:59:53 310




นิวส์ คอนเน็คท์ – KTB ประเมิน เทคโนโลยี 5G และวิกฤต COVID-19 จะปฏิวัติการดำเนินธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมสู่รูปแบบอัจฉริยะ ผลักดันอุตสาหกรรม Healthcare พลิกโฉมสู่รูปแบบ Smart Healthcare เต็มรูปแบบ ยกระดับประสิทธิภาพการดูแลสุขภาพสู่มิติใหม่ๆ และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยลงปีละ 7-11.5%


เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า กระแสเทคโนโลยี 5G ที่ได้เริ่มใช้งานในเชิงพาณิชย์ไปแล้วในหลายประเทศ ส่วนในประเทศไทยคาดว่าการใช้งาน 5G จะเกิดขึ้นใน 1-3 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และจังหวัดต้นแบบของ Smart City เนื่องจาก 5G จะทำให้เทคโนโลยีต่างๆทรงพลัง โดยเร็วกว่า 4G ได้ถึง 20 เท่า และรองรับอุปกรณ์ได้มากกว่าถึง 10 เท่า


ขณะที่วิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ผลักดันให้ผู้บริโภคและองค์กรต่างๆ เปิดรับและเรียนรู้เทคโนโลยีเร็วขึ้น ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เช่น การปฏิบัติงานทางไกล การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robotics & Automation) โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม Healthcare ซึ่งเป็นแนวหน้าในการสู้กับ ไวรัสโควิด-19 และไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ และการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง


ทั้งนี้ ประเมินว่าการเกิดขึ้นของเทคโนโลยี 5G จะปฏิวัติการดำเนินธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมสู่รูปแบบอัจฉริยะ (Smart Business) ซึ่งในอุตสาหกรรม Healthcare จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพการดูแลสุขภาพสู่มิติใหม่ๆ แก้ปัญหาข้อจำกัดด้านความเพียงพอและการกระจุกตัวของบุคลากรทางการแพทย์ ที่มีแพทย์เพียง 6 คนต่อประชากร 1 หมื่นคน ลดผลกระทบต่อคุณภาพและการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ รวมทั้ง หากมีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศลงได้ปีละ 7-11.5%


ด้านนายณัฐพร ศรีทอง ผู้ร่วมทำวิจัย กล่าวว่า เทคโนโลยี 5G จะทำให้เกิด Smart Healthcare อย่างแท้จริง เนื่องจากผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถสื่อสารกันแบบ Real Time ข้อมูลต่างๆ จะถูกรวมศูนย์อย่างเป็นระบบ และทำให้ศูนย์กลางการดูแลสุขภาพถูกถ่ายโอนจากบุคลากรทางการแพทย์สู่ผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับบริการดูแลสุขภาพในรูปแบบ 4 P คือ สามารถคาดการณ์ปัญหาสุขภาพ (Predictive) ดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน (Preventive) ออกแบบให้เฉพาะเจาะจงแต่ละบุคคล (Personalized) รวมทั้งผู้ป่วยมีส่วนดูแลสุขภาพมากขึ้น (Participatory) ผ่านการตรวจตราและเฝ้าระวังสุขภาพผ่านโทรศัพท์มือถือ ด้วยแอปพลิเคชันและอุปกรณ์สวมใส่ต่างๆ (Wearable Medical Device)


โดยงานวิจัยในต่างประเทศ พบว่าตลาด wearable จะเติบโตปีละ 28% ขณะที่ตลาดการปรึกษาด้านสุขภาพทางไกลจะเติบโตปีละ 18.9% และโดยรวมตลาด Internet of Medical Things (IoMT) จะเติบโตปีละ 27.6%


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews