Phones





กองทัพบก-กฟผ.เซ็นMOUสะท้านปฐพี ลุยโซลาร์ฟาร์ม30,000MW

2021-02-22 19:36:46 1875




นิวส์ คอนเน็คท์ - กองทัพบก-กฟผ.ทำ MOU สะท้านปฐพี ศึกษาความเป็นไปได้โครงการ "เมกะโปรเจคโซลาร์ฟาร์ม 30,000 เมกะวัตต์" มูลค่าลงกว่ากว่า 6 แสนล้านบาท เปิดทางใช้พื้นที่ทหารกว่า 4.5 ล้านไร่ สร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและพลังงานของชาติ


เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 พลโทรังษี กิติญาณทรัพย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ในฐานะตัวแทนกองทัพบก เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 มกราคม ที่ผ่านมา กองทัพบก โดยพลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. โดยนายบุญยนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก ภายใต้โครงการ "เมกะโปรเจคโซลาร์ฟาร์ม 30,000 เมกะวัตต์" โดยจะใช้พื้นที่ในการดูแลของกองทัพบกทั่วประเทศกว่า 4.5 ล้านไร่ มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ในด้านเกษตรกรรมและพลังงาน


ล่าสุด มีผู้ประกอบธุรกิจด้านพลังงานราว 50-60 บริษัท ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ทั้งที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมทั้งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ติดต่อเข้าขอรับทราบรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมแสดงเจตจำนงเข้าร่วมลงทุน “เมกะโซลาร์ฟาร์ม” รวมถึงลงทุนในอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ครบวงจร ทั้งการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ อุตสาหกรรมที่เป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และการลดต้นทุน



สำหรับโครงการ "เมกะโซลาร์ฟาร์ม” ขนาดติดตั้ง 30,000 เมกะวัตต์ในครั้งนี้ กองทัพบกร่วมกับ กฟผ. อยู่ในขั้นตอนการสำรวจพื้นที่ที่อยู่ในความปกครองของกองทัพบก เพื่อคัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมสำหรับทำโซลาร์ฟาร์ม เพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ คาดว่าจะใช้พื้นที่ประมาณ 300,000 ไร่ และจะใช้เงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 600,000 ล้านบาท โดยขั้นตอนหลังจากนี้ ทาง กฟผ.จะต้องเสนอไปยังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เพื่อขอความเห็นชอบ จากนั้นจะเสนอไปยังกระทรวงพลังงาน เพื่อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ตามขั้นตอน หาก ครม.เห็นชอบ จะดำเนินการโดยทันทีต่อไป

ทั้งนี้ จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า พื้นที่ ต.แก่งเสี้ยน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี มีความเหมาะสมในการทำโซลาร์ฟาร์ม ผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยกองทัพบก และ กฟผ.จะดำเนินการนำร่อง “เมกะโซลาร์ฟาร์ม” ในพื้นที่ 3,000 ไร่ก่อน คาดว่าจะผลิตไฟฟ้าได้ 300 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท โดยให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน และพร้อมเตรียมจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ ต่อไป


โครงการ “เมกะโซลาร์ฟาร์ม” นับเป็นการปฏิรูปพลังงานไฟฟ้าครั้งสำคัญ ในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าและเศรษฐกิจ โดยประเทศและประชาชนจะได้รับผลประโยชน์จากโครงการ ดังนี้ 1. ประชาชนจะจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราที่ลดลง ประมาณยูนิตละ 2.50 บาท จากเดิม 3.50 บาท, 2. ประเทศจะลดการขาดดุลในการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการนำเข้าก๊าซและถ่านหิน ประมาณปีละ 700,000-800,000 ล้านบาท, 3. เป็นการระดมทุน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งการลงทุนในโครงการนี้ นับเป็นการฉีดเงินเข้าระบบ ทำให้เกิดการหมุนเวียนเพิ่มมูลค่าเป็น 8 เท่าของเงิน เนื่องจากผู้ที่ได้รับสัมปทานจะต้องซื้อวัสดุในการสร้างโซลาร์ฟาร์ม ในพื้นที่ที่ได้รับสัมปทาน, 4. ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับประชาชนที่ว่างงาน เพราะต้องใช้แรงงานในพื้นที่ ดำเนินการก่อสร้างโซลาร์ฟาร์ม, 5. สร้างความมั่นคงในด้านพลังงานไฟฟ้า โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาใคร เมื่อค่าไฟฟ้าถูกลง ก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตสู้กับประเทศคู่แข่งได้, 6. ช่วยเกษตรกรไทยในการจำหน่ายสินค้าเกษตร โดยใช้วิธี Barter Trade กับประเทศที่จำหน่ายเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ นำสินค้าเกษตรของไทยไปแลกกับอุปกรณ์อุปกรณ์โซลาร์ฟาร์ม ในมูลค่าเท่ากัน คิดเป็นเงินประมาณ 300,000-400,000 ล้านบาท, 7. ช่วยลดมลภาวะและสภาวะโลกร้อน อันเนื่องมาจากการใช้พลังงานสะอาด และ 8. ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล โดยไม่ต้องอุดหนุนงบประมาณของรัฐ


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews