Phones





รวมพลังผลักดันฏหมาย "สมรสเพศเดียวกัน"

2020-01-16 20:22:27 3251




นิวส์ คอนเน็คท์ - สถาบันพระปกเกล้า โดยกลุ่มนักศึกษารุ่น 9 กลุ่ม 6 เดินหน้าจัดใหญ่ เสวนา “ทิศทาง คู่ชีวิต &สมรสเพศเดียวกัน ฟุบหรือไปต่อ(ทางไหนดี?)” หวังต่อยอดพ.ร.บ. คู่ชีวิตในประเทศไทยเป็นฉบับสมบูรณ์ ลดการเหลื่อมล้ำในสิทธิต่าง ๆ และการใช้ชีวิตคู่ของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยในอนาคต


เมื่อเร็วๆ นี้ นายกิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย (RSAT) เปิดเผยในงานเสวนาเชิงวิชาการเรื่อง “ทิศทาง คู่ชีวิต &สมรสเพศเดียวกัน ฟุบหรือไปต่อ(ทางไหนดี?)” ที่จัดโดยกลุ่มนักศึกษา กลุ่มที่ 6 (เหยี่ยว) หลักสูตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย รุ่นที่ 9 สถาบันพระปกเกล้า ว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติแล้วว่า เป็นดินแดนที่ยอมรับความแตกต่างและความหลากหลายทางเพศ รวมถึงการสมรสของเพศเดียวกัน แต่ยังไม่มีพระราชบัญญัติ หรือกฎหมายที่ดูแลและให้สิทธิ์เกี่ยวกับการใช้ชีวิตคู่ในกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ทำให้เกิดการจำกัดสิทธิต่างๆ และความไม่เท่าเทียมกันในการใช้ชีวิตคู่ของกลุ่มบุคคลดังกล่าวในประเทศไทย ดังนั้นการจัดเสวนาครั้งนี้ขึ้น เพื่อต้องการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของพ.ร.บ. คู่ชีวิตในประเทศไทย และให้ประชาชนทั่วไปตระหนักถึงปัญหาและอุปสรรคของพ.ร.บ.คู่ชีวิต รวมถึงกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน


นอกจากนี้ ยังต้องการรวบรวมข้อเสนอแนะต่างๆ เกี่ยวกับ พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพื่อนำไปยื่นให้กรรมาธิการ ทั้งฝั่งสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่กำลังจะบัญญัติและประกาศใช้ รวมถึงการแก้ไขข้อกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติ ตราโดยฝ่ายนิติบัญญัติ (สส. และ สว.) ส่วนพระราชกำหนด และพระราชกฤษฎีกา ตราโดยฝ่ายบริหาร เมื่อเสร็จแล้ว นำทูลเกล้าในหลวง เพื่อลงพระปรมาภิไทย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป


"ปัจจุบันมีประมาณ 26 ประเทศในโลก ที่มีกฎหมายรับรองการสมรสของบุคคลเพศเดียวกันแล้ว ซึ่งกฎหมายคู่สมรสเพศเดียวกันฉบับแรกในเอเชีย มีขึ้นในประเทศไต้หวัน เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา ไต้หวันมีวิวัฒนาการทางกฎหมายและบริบททางสังคมใกล้เคียงกับประเทศไทยมาก ดังนั้นจึงมองว่าการศึกษาวิวัฒนาการของไต้หวัน น่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยมาก เพราะเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการ“ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต” หรือที่เรียกกันว่า “พ.ร.บ.คู่ชีวิต” แล้ว เพื่อเตรียมส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา แต่ที่ผ่านมายังมีข้อถกเถียงกันตลอดว่า บทบัญญัติหลายประการของ พ.ร.บ.นี้ อาจให้สิทธิบางอย่างของคู่ชีวิต ไม่เท่าเทียมกับคู่สมรส" นายกิตตินันท์ กล่าว



ทั้งนี้ ที่ผ่านมากลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมองว่า การเกิดขึ้นของ พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการฉายภาพความแตกต่างแปลกแยกจากสังคมของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น โดยมองว่าสิ่งที่ภาครัฐควรทำ คือ เร่งแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด เพื่อให้มีความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย ด้วยการแก้ไขที่ปพพ.โดยตรง ไม่ใช่การแยกตัวบทกฎหมายสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศออกมา


ด้านอาจารย์อัครวัฒน์ เลาวัณย์ศิริ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะกรรมการสมาคมกฎหมายระหว่างประเทศแห่งประเทศไทย และผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติจดทะเบียนคู่ชีวิต รายแรกที่ได้รับทุนสนับสนุนการทำวิจัยจาก สำนักงานพัฒนาโครงการแห่งสหประชาชาติ (UNDP) กล่าวว่า อยากให้กฎหมายมีความรอบด้าน สามารถคุ้มครองสิทธิได้ครบถ้วน ตั้งแต่สถานะทางเพศ สถานะทางครอบครัว และเรื่องอื่นๆที่สืบเนื่องต่อมาทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม การที่เราจะมีระบบกฎหมายที่สมบูรณ์แบบได้นั้นย่อม ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน กฎหมายจะต้องเกิดขึ้นพร้อมกับกลไกที่จะช่วยขับเคลื่อนไปร่วมกัน


“ตอนนี้ร่างพระราชบัญญัติยังอยู่ในชั้นของกฤษฎีกา ผมคิดว่าเราน่าจะมีกลไกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้มากกว่านี้ เพื่อให้คนที่ตัดสินใจและคนที่ทำงาน สามารถเลือกสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อสรรสร้างกฎหมายที่ดีที่สุดให้แก่ประเทศไทยได้เว้นวรรค นอกจากนี้ผมคิดว่า ถ้าเราได้รับความร่วมมือ และความช่วยเหลือจากสื่อ และภาคประชาสังคมสารัตถะของกฎหมายที่ค่อนข้างซับซ้อน ก็จะกลายเป็นเรื่องที่ง่ายและประชาชนทุกคนสามารถเข้าใจได้”


อาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวมองว่าการเสวนาครั้งนี้ จะทำให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ที่น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้คนหันมาสนใจเรื่อง LGBT เพราะการจัดเสวนาครั้งนี้ ทำให้เรื่องความหลากหลายทางเพศมีความเป็นสาธารณะมากขึ้น


คุณณิชนัจทน์ สุดลาภา นางแบบและคณะทำงานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน(Thai TGA) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า พรบ. คู่ชีวิตยังมีบางเรื่อง ที่ไม่ได้รับสิทธิเท่าคนไทยปกติ เช่น เรื่องบุตรบุญธรรม เพราะปัจจุบันมีกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ รับเด็กมาเป็นบุตรบุญธรรม กฎหมายก็ไม่ออกมารองรับ ซึ่งโดยส่วนตัว ที่ทำงานและพยายามออกมาพูดในเรื่องนี้บ่อยๆ แค่อยากได้สิทธิที่เท่าเทียมกันกับประชาชนคนไทยทุกคน ไม่ได้มีอะไรที่เหนือกว่า หรือด้อยกว่า



>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews