Phones





BAY เปิดแผนลุยภูมิภาคอาเซียน อัพสัดส่วนรายได้แตะ 25%

2024-11-26 14:40:48 104



 
นิวส์ คอนเน็คท์ - BAY เปิดแผนธุรกิจอาเซียนปี 68 หวังเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่างประเทศขึ้นสู่ระดับ 25% ของรายได้รวม พร้อมเข้าถือหุ้น 100% ของ SHB Finance เสร็จกลางปี 68 เล็งปรับโครงสร้างธุรกิจที่เข้าลงทุนเพื่อเสริมแกร่งและต่อยอดการดำเนินธุรกิจในอาเซียน
 
เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 นางสาวพัทธ์หทัย กุลจันทร์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจอาเซียน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เปิดเผยว่า ธนาคารได้กำหนดเป้าหมายตามแผนธุรกิจระยะกลางในการเป็นธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาคเพื่อความยั่งยืน ธุรกิจอาเซียนจึงเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่สำคัญของกรุงศรี ซึ่งปัจจุบันกรุงศรีมีบริษัทในเครือในต่างประเทศทั้งสิ้น 6 บริษัท เป็นธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคจำนวน 5 บริษัท และ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์จำนวน 1 แห่ง โดยกระจายอยู่ 5 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ทำให้มีฐานลูกค้าอาเซียนราว 19 ล้านราย ซึ่งเชื่อว่าด้วยความเชี่ยวชาญของธนาคารในธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค และศักยภาพของบริษัทลูกในต่างประเทศจะสามารถผสานความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อสร้างการเติบโตให้กับกรุงศรีได้เพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต
 
สำหรับความคืบหน้าแผนในการเข้าซื้อกิจการ SHB Finance ธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในประเทศเวียดนามนั้น ถือว่ารวดเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้ โดยเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ธนาคารได้ยื่นเข้าซื้อและรับโอน 50% ที่คงเหลือจากการซื้อ และ รับโอนส่วนของทุนครั้งแรก ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างรอการพิจารณาอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง โดยธนาคารคาดว่าจะเข้าถือหุ้นสัดส่วน 100% ของ SHB Finance เสร็จสิ้นในช่วงกลางปี 2568 สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของกรุงศรีในการขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งในอาเซียน และความเชื่อมั่นในศักยภาพของตลาดเวียดนาม
 
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาธนาคารได้ขับเคลื่อนธุรกิจอาเซียน และ สร้างการเติบโตโดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งที่มีเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ ด้วยการสร้างระบบนิเวศกรุงศรี (Krungsri Ecosystem) ​และ ความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารได้เดินหน้าตามแนวทาง ดังต่อไปนี้ 1.ใช้ประโยชน์จากเครือข่าย และความแข็งแกร่งของกรุงศรี และ MUFG ทำให้บริษัทในเครือในต่างประเทศสามารถชิงความได้เปรียบทางการแข่งขัน เช่น การได้รับอันดับความน่าเชื่อถือที่ดีของกรุงศรี และ MUFG จากบริษัทจัดอันดับเครดิตชั้นนำส่งผลให้บริษัทลูกในต่างประเทศมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลงสามารถแข่งขันในตลาดได้ดีขึ้น
 
2. ในฐานะผู้นำในตลาดสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในประเทศไทย กรุงศรีมุ่งส่งต่อความรู้ ประสบการณ์ และ ความเชี่ยวชาญด้านสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคทั้งจากกรุงศรี ออโต้ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ให้กับบริษัทในเครือในต่างประเทศ เพื่อนำจุดแข็ง และ ความสำเร็จที่ได้ไปเป็นแนวทางเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมทางการเงินที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในประเทศต่างๆ ช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือ สามารถสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ
 
3.ธนาคารยังให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อขยายฐานลูกค้าไปยังประเทศต่างๆ ในอาเซียน โดยที่ผ่านมาธนาคารได้พัฒนาความร่วมมือกับพันธมิตรหลายราย ภายใต้โครงการ ASEAN Privilege โดยจับมือกับพันธมิตรอย่าง คิง พาวเวอร์ และ เดอะมอลล์ กรุ๊ป เพื่อให้สิทธิประโยชน์ด้านไลฟ์สไตล์และการช้อปปิ้งแก่ลูกค้านักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศอาเซียนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย และ เร็วๆนี้ธนาคารเตรียมประกาศความร่วมมือกับกลุ่มโรงพยาบาลชั้นนำในไทย เพื่อขยายบริการด้านสุขภาพ และ การรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นธุรกิจที่ดึงดูด และ เป็นจุดแข็งของประเทศ ให้สามารถเจาะกลุ่มลูกค้าในอาเซียนได้มากยิ่งขึ้น
 
ทั้งนี้ จากแนวทางการดำเนินงานที่ผ่านมา ทำให้ภาพรวมในปี 2567 ธนาคารประสบความสำเร็จในการขยายพอร์ตสินเชื่อในภูมิภาคอาเซียน โดยมุ่งเน้นการเติบโตในกลุ่มลูกค้า SME และกลุ่มลูกค้ารายย่อย ประกอบกับ ยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการสินทรัพย์ และ เสริมสร้างรายได้จากกลุ่มสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งปัจจุบันธุรกิจอาเซียนมีสัดส่วนสินเชื่อคิดเป็น 5% ของสินเชื่อรวม และ สัดส่วนรายได้อยู่ที่ 20% ของรายได้รวม ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 23.2%
 
สำหรับกลยุทธ์การดำเนินงานของธุรกิจอาเซียน ในปี 2568 กรุงศรีจะมุ่งให้ความสำคัญใน 3 เรื่องหลัก ประกอบด้วย 1. ปรับแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างมั่นคง โดยในแต่ละบริษัทจะมีการกำหนดกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับภาวะตลาด และสถานการณ์การแข่งขันในธุรกิจ เช่น เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการของสาขา และ เร่งขยายฐานผู้ใช้งานโมบายแอปพลิเคชันของ Hattha Bank
 
2. เพิ่มความแข็งแกร่งในการสร้างรายได้ เช่น นำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด และ รักษาฐานลูกค้าเดิมให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ Home Credit Philippines และ Home Credit Indonesia สามารถครองความเป็นผู้นำอันดับ 1 ในธุรกิจ รวมทั้งพัฒนาโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเข้าถึงลูกค้าในกลุ่มใหม่ๆ เช่น Home Credit Philippines และ SHB Finance ที่มีแผนการขยาย และ เข้าสู่ตลาดบัตรเครดิต การขายประกันในรูปแบบของผลิตภัณฑ์การเงินผ่านช่องทางธนาคาร (Bancassurance) ของ Hattha Bank
 
3. เพิ่มประสิทธิภาพ และ ประสิทธิผล เช่น การนำเทคโนโลยีการสร้างหุ่นยนต์มาเพื่อทำงานแบบอัตโนมัติบนระบบคอมพิวเตอร์ (Robotic Process Automation) เข้ามาช่วยในงานด้านการปฏิบัติงาน เพื่อทำให้สามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น ช่วยลดต้นทุน รวมถึงการพัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือที่มีอยู่ เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้ง่าย และ มากขึ้น สามารถช่วยขยายฐานลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิผล
 
“ปีหน้าเราจะคงไม่มีการเข้าซื้อกิจการ แต่จะปรับโมเดลธุรกิจที่เราซื้อมาก่อนหน้านี้แทน เพื่อสร้างการเติบโต โดยสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศปี 66 อยู่ที่ 13% และปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 20% และปีหน้าเพิ่มเป็น 25% ซึ่งประเทศที่ทำกำไรสูงสุดให้กับเราคือ ฟิลิปปินส์ แม้จะเจอปัญหาไต้ฝุ่นมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนประเทศที่ไม่คิดที่จะลงทุน คือ เมียนมา เพราะมีปัญหาภายในประเทศ ขณะที่กัมพูชามี NPL โต 50% เพราะหนี้ครัวเรือนสูง” นางสาวพัทธ์หทัย กล่าว