Phones





DOD อวดออเดอร์ ‘ออสเวลไลฟ์’ ทะลัก หนุนรายได้ปลายปีกระฉูด

2024-12-26 17:21:23 85



 
นิวส์ คอนเน็คท์ – DOD ผลงานปลายปีแกร่ง โกยรายได้จากผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 100-120 ล้านบาท รวมถึงออเดอร์จาก “ออสเวลไลฟ์” ที่เข้ามาเพิ่มอีก 75-80 ล้านบาท หนุนรายได้ไตรมาส 4/67 แตะระดับ 175-200 ล้านบาท แย้มเจรจาลูกค้ารายใหม่ หวังสร้างการรับรู้รายได้ที่มั่นคง
 
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 นายต่อลาภ ไชยเชาวน์ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีโอดี ไบโอเทค จำกัด (มหาชน) หรือ DOD เปิดเผยว่า ภาพรวมผลประกอบการไตรมาส 4/2567 ยังมีการเติบโตที่ดี โดยยอดขายรวมของบริษัทกลับมาสู่ระดับปกติ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่ายอดขายจากฐานการผลิต (Production Base) จะอยู่ที่ประมาณ 100-120 ล้านบาท ขณะที่ยอดขายจากฐานการค้าปลีก (Retail Base) ภายใต้ บริษัท ออสเวลไลฟ์ จำกัด (AWL) คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 75-80 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้ไตรมาส 4/2567 บริษัทจะมีรายได้รวมที่ราว 175-200 ล้านบาท
 
สำหรับภาพรวมผลประกอบการในปี 2567 เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยมีลูกค้ารายใหม่เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันก็ยังมีการสั่งผลิตสินค้าเดิมอย่างต่อเนื่อง โดยมีการออกสินค้าใหม่ๆ ทั้งจากลูกค้ารายเดิมและลูกค้ารายใหม่ในทุกเดือน ส่งผลให้ยอดขายของบริษัทฯ ที่เป็นฐานการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ยอดขายจากกลุ่มค้าปลีกภายใต้ บริษัท ออสเวลไลฟ์ จำกัด (AWL) ซึ่งดำเนินการจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ “Auswelllife” นำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย ก็เป็นไปในทิศทางที่ดีเช่นกัน
 
ขณะที่ในปี 2568 บริษัทยังคงมุ่งสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากกลุ่มสินค้าเดิมที่มียอดขายดีและมีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งยังมีการออกสินค้าใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งพิจารณาได้จากการขยายกำลังการผลิต โดยได้ลงทุนติดตั้งเครื่องจักรสำหรับทำกัมมี่ (Gummies) เรียบร้อยแล้ว โดยมีกำลังการผลิตที่1แสนชิ้นต่อวัน (เฉลี่ยประมาณ 2.5 ล้านชิ้นต่อเดือน) โดยเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถผลิตสินค้าประเภทกัมมี่ (Gummies) ได้ตั้งแต่ไตรมาส 1/2568 และจะเริ่มทยอยส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้ ภายในไตรมาส 2/2568 เป็นต้นไป สำหรับความต้องการอาหารเสริมในรูปแบบกัมมี่ (Gummies) เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันที่มีความนิยมมากขึ้น ด้วยพฤติกรรมของคนไทยที่นิยมรับประทานง่ายและมีประโยชน์
 
“ภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารเสริมในปี 2568 นั้น บริษัทฯ มองว่า เทรนด์ของคนรักสุขภาพยังคงมีต่อเนื่อง โดยผู้เล่นรายใหม่จะเปลี่ยนจากเดิมที่เป็นกลุ่มลูกค้าทั่วไป แต่ปัจจุบันกลุ่มที่หันมาทำธุรกิจเสริมอาหารจะเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือและยอมรับอย่างกลุ่มหมอมากขึ้น ดังนั้น ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต้องมีคุณสมบัติที่มีมาตรฐานระดับสูง ซึ่งต้องผ่านการผลิตจากโรงงานที่มีคุณภาพระดับสูงด้วยเช่นกัน” นายต่อลาภ กล่าว