Phones





กรุงศรี โชว์ปริมาณธุรกรรมแลกเงินตปท.Q1โต 10%

2025-07-01 19:48:51 80



 
นิวส์ คอนเน็คท์ - กรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ โชว์ปริมาณธุรกรรมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศไตรมาส 1/68 ขยายตัว 10% จากช่วงเดียวกันปีก่อน พร้อมวาง 4 กลยุทธ์รักษาระดับการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่มองอัตราแลกเปลี่ยนจะกลับมาผันผวนสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง จากความกังวลต่อนโยบายการค้าของสหรัฐ
 
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 นายฮิโรทากะ คุโรกิ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จํากัด (มหาชน) หรือ BAY เปิดเผยว่า หากพิจารณาสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน พบว่ามีทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบและเป็นความท้าทายต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการส่งออก อย่างไรก็ตาม กรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ จะยังคงขับเคลื่อนธุรกิจด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งสนับสนุนลูกค้าและผู้ประกอบการไทยให้สามารถดำเนินธุรกิจท่ามกลางความท้าทายดังกล่าวได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนด้วยเช่นกัน
 
ทั้งนี้ ในปี 2568 กรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ มุ่งสร้างการเติบโตของธุรกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนด 4 กลยุทธ์หลักซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ คือ การสนับสนุนผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เชื่อมโยงกับมิติ ESG การส่งเสริมธุรกรรมสกุลเงินเกิดใหม่ การขยายฐานธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล และ การนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยในไตรมาส 1/2568 ปริมาณธุรกรรมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของกรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเติบโตมากกว่าอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราการส่งออกและนำเข้าในไตรมาส 1/2568
 

อย่างไรก็ตาม ธนาคารคาดว่าจะสามารถรักษาระดับการเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วย 4 กลยุทธ์หลักนี้ ประกอบด้วย 1. การสนับสนุนผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เชื่อมโยงกับมิติ ESG โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เชื่อมโยงกับมิติ ESG เพิ่มขึ้น อาทิ ธุรกรรมอนุพันธ์ด้านอัตราดอกเบี้ยที่อ้างอิงกับ ESG (ESG-linked Interest Rate Derivatives) และผลิตภัณฑ์แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่อ้างอิงกับ ESG (ESG-linked FX) ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณซื้อขายผลิตภัณฑ์ ESG-linked FX อยู่ที่ประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ
 
2. การส่งเสริมธุรกรรมสกุลเงินเกิดใหม่ โดยเพิ่มความสามารถของสกุลเงินเกิดใหม่ (Emerging Currency) โดยในปีที่ผ่านมา กรุงศรีสามารถขยายขีดความสามารถเพื่อรองรับธุรกรรมสกุลเงินเดอร์แฮมสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (AED) และธุรกรรมปริวรรตเงินตราต่างประเทศให้ครอบคลุมเงินสกุลเปโซเม็กซิโก (MXN) เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มทางเลือกในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนแก่ลูกค้าที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับตะวันออกกลางและอเมริกาเหนือ โดยในปี 2567 ธนาคารมีปริมาณธุรกรรมในการใช้ธุรกรรมสกุลเงินเกิดใหม่เพิ่มขึ้นถึง 10% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
 
3. การขยายฐานธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล: พัฒนาทั้งในแง่เทคโนโลยี และความสามารถในการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างต่อเนื่องให้มีความหลากหลาย สะดวก รวดเร็ว และสอดคล้องกับความต้องการ โดยในปี 2567 มีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นถึง 138% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าและในไตรมาส 1/2568 มีจำนวนธุรกรรม FX ที่ทำผ่านแพลตฟอร์ม FX@Krungsri สูงถึง 26% ของธุรกรรม FX ที่สามารถซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้
 
4. การนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่แก่ลูกค้า: มุ่งขยายขีดความสามารถในการให้บริการและนำเสนอผลิตภัณฑ์ ไม่จำกัดเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับปริวรรตเงินตราต่างประเทศและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเท่านั้น แต่ยังนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์แก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เช่น ในปี 2567 กรุงศรีได้ออกผลิตภัณฑ์สัญญาซื้อขายตราสารหนี้ล่วงหน้า (Bond Forward) ที่ลูกค้าและนักลงทุนสามารถใช้ในการลดความเสี่ยงด้านตลาดและด้านสภาพคล่องในการกำหนดราคาซื้อขายพันธบัตร
 

ด้านนางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อํานวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมของสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 นั้น ประเมินว่านโยบายกำแพงภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีทรัมป์กดดันค่าเงินดอลลาร์อ่อนลง เนื่องจากวัฏจักรเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวจะเอื้อให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ลดดอกเบี้ยลงต่อในระยะข้างหน้า อีกทั้งความกังวลของตลาดเกี่ยวกับสถานะการคลังสหรัฐฯ ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงผู้ค้าสำคัญของสหรัฐฯ มีเวลาที่จะเตรียมตัวตั้งรับด้วยการสนับสนุนเศรษฐกิจในประเทศเพื่อชดเชยผลกระทบจากสงครามการค้า แม้ในกรณีที่ความตึงเครียดด้านการค้าคลี่คลายลง การฟื้นตัวของเงินดอลลาร์จะถูกจำกัดด้วยความเชื่อมั่นที่สูญเสียไป ซึ่งเป็นผลของนโยบายการค้าสุดโต่งและปรับเปลี่ยนไปมา
 
ทั้งนี้ กรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ คาดว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะกลับมาผันผวนสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐฯ รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และผลต่อต้นทุนพลังงาน โดยประเมินว่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าเล็กน้อยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2568 ในกรอบกว้างที่ 31.75-34.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ บนสมมติฐานสำคัญที่ว่าสหรัฐฯอาจลดดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ และปัจจัยลบของเงินดอลลาร์ในตลาดโลกยังคงดำเนินต่อไป
 
“สกุลเงินของเศรษฐกิจกำลังพัฒนาที่พึ่งพาการส่งออกสูง รวมถึงเงินบาท อาจอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก เช่น เงินเยน และเงินยูโร ขณะที่การค้าโลกเข้าสู่ภาวะซบเซา ขณะที่คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)อาจลดดอกเบี้ยนโยบายอีกอย่างน้อย 0.25% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 จากระดับ 1.75% ในปัจจุบัน เพื่อประคองเศรษฐกิจซึ่งเผชิญหลากหลายความเสี่ยงด้านขาลง” นางสาวรุ่ง กล่าว