Phones





SEAFCOตุนBacklogไว้1.7พันล. ลุยหางานใหม่เพิ่ม

2021-05-19 17:53:40 371



นิวส์ คอนเน็คท์ – SEAFCO ประคองธุรกิจปี 64 ให้ยังเห็นตัวเลขกำไร มองภาวะอุตสาหกรรมรับผลกระทบหนักจากโควิด-19 ด้านโบรกฯ มองผลประกอบการครึ่งหลังเริ่มกระเตื้อง รับแรงหนุนจากโครงการภาครัฐ

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ดร.ณรงค์ ทัศนนิพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซีฟโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ SEAFCO เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจในปี 64 บริษัทวางเป้าหมายที่จะประคองผลประกอบการให้ยังสามารถมีผลกำไร แม้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปีก่อนมาจนถึงปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจค่อนข้างมาก ทั้งในเรื่องของการส่งมอบงานที่ไม่สามารถทำได้ตามแผน เนื่องจากการขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งไม่มีงานขนาดใหญ่ออกมาทั้งของภาครัฐและเอกชน

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันบริษัทมีงานในมือรอส่งมอบ (Backlog) หลังจากหักไตรมาส 1/64 ไปแล้วเหลืออยู่ราว 1,700 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะทยอยรับรู้รายได้เข้ามาในปีนี้ ขณะที่บริษัทคาดหวังว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะได้รับงานใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติม แต่คงเป็นงานที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก และอัตรากำไรอาจจะไม่สูงเท่าในอดีต

“ยอมรับตรงๆ ว่า จะไปหวังจะเห็นรายได้ระดับ 2-3 พันล้านบาท หรือกำไรสูงๆ เหมือน 2-3 ปีก่อน คงเป็นเรื่องยาก ตอนนี้แทบจะไม่มีงานใหญ่ๆ ออกมาเลย มีแต่งานเล็กๆที่พอจะเห็นบ้าง แต่เราก็เอาหมดเพราะเราคงต้องสะสม Backlog ให้มากที่สุด ซึ่งปีนี้เราให้ความสำคัญของผลประกอบการที่จะต้องยังมีกำไรให้ได้ แต่คงจะเหนื่อยหน่อย” นายณรงค์ กล่าว

ทั้งนี้ ผลประกอบการไตรมาส 1/64 ของ SEAFCO มีรายได้จากการรับจ้างอยู่ที่ 589.01 ล้านบาท ลดลง 32.18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้ 868.48 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 23.93 ล้านบาท ลดลง 74.65% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 94.40 ล้านบาท  

ด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส ระบุว่า ตัวเลขกำไรไตรมาส 1/64 ของ SEAFCO ค่อนข้างน่าผิดหวัง เนื่องจากรายได้และอัตรากำไรขั้นต้นที่ปรับลดลง ขณะที่แนวโน้มไตรมาส 2/64 ยังไม่สดใส โดยคาดกำไรใกล้เคียงไตรมาส 1/64 เพราะงานขนาดใหญ่จบลง ได้แก่ โครงการดุสิตธานี ซึ่งก่อสร้างเสร็จแล้วในช่วงเดือน เม.ย.64 แต่มีโอกาสที่กำไรในงวดครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากได้มีการเริ่มงานจากโครงการภาครัฐต่างๆ เช่น ทางด่วนพระราม 3 - ดาวคะนอง (สัญญา 1 และ 3), รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม งานก่อสร้างในปีนี้มีแนวโน้มจะยังออกมาไม่มากนัก ทั้งภาครัฐบาลและเอกชน สำหรับงบประมาณภาครัฐส่วนใหญ่จะทุ่มเทไปให้กับการเยียวยาประชาชนจากโรคโควิด-19 แต่งานก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีม่วง ต่างก็มีปัญหา มีโอกาสสูงที่จะเปิดประมูลได้ล่าช้า ด้านงานภาคเอกชนประเภทอาคารสูงก็ซบเซา จากภาวะอุปทานล้นเกินของคอนโดมิเนียม สำหรับอาคารเชิงพาณิชย์ Mix Use ส่วนใหญ่ใกล้จะแล้วเสร็จ ยังผลให้มีการแข่งขันรุนแรงในด้านการเสนอราคาประมูล เพื่อให้ได้งานมา จึงส่งผลกระทบต่ออัตรากำไรให้หดแคบลง ทั้งนี้ เมื่อต้น พ.ค.64 บริษัทแจ้งตลาดฯ ว่าได้งานใหม่เพิ่ม 8 โครงการ แต่มูลค่าไม่สูงนักคือ 182.8 ล้านบาท.