นิวส์ คอนเน็คท์ – SCB เฉือนเนื้อ ยกเลิกค่าธรรมเนียมให้เอสเอ็มอีรายย่อย ที่ทำธุรกรรมผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม หวังช่วยประคองเอสเอ็มอีให้อยู่รอดท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจและส่งออกชะลอตัว พร้อมอัดแคมเปญ “SME Fighto” และ “มณี Free Solution” คาดดึงลูกค้าเข้าใช้บริการ Easy SCB เพิ่มอีก 1 แสนราย
นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยว่า ธนาคารได้มีการเดินหน้าแผนการสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเน้นไปที่การส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในช่วงที่มีปัจจัยกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการส่งออก โดยธนาคารได้มีการประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมทุกประเภทสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่มียอดขายไม่เกิน 75 ล้านบาทต่อปีเมื่อมีการทำธุรกรรมผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม และบัญชีมณีมั่งคั่ง
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้มีการเปิดตัวแคมเปญ “SME Fighto” ปลุกสปิริตนักสู้ผู้ประกอบการ และ “มณี Free Solution” เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีค้าขายราบรื่น เติบโตอย่างมั่งคั่งด้วย 3 โซลูชั่นสำหรับเอสเอ็มอี ได้แก่ ฟรีค่าธรรมเนียมทุกประเภท ฟรีอัพเกรดดอกเบี้ยบัญชีมณีมั่งคั่ง บัญชีเดินสะพัดดอกเบี้ยสูงสุด 1% รับดอกเบี้ยทุกสิ้นเดือน และฟรี บริการ Co-working Space และสัมมนาต่อยอดธุรกิจเพื่อช่วยผลักดันให้ธุรกิจของประกอบการเติบโตได้มากขึ้น
ปัจจุบันมีจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการแอปพลิเคชั่น Easy SCB อยู่ราว 10 ล้านราย โดยมีจำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดเล็กใช้บริการ Easy SCB ราว 2 แสนราย และมีผู้ประกอบการรายย่อยที่ใช้บริการอีกเป็นจำนวน ซึ่งหลังจากการเปิดตัวแคมเปญช่วยเหลือผู้ประกอบการในครั้งนี้ คาดว่าจะมีจำนวนผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาใช้บริการ Easy SCB ไม่ต่ำกว่า 1 แสนราย ขณะที่ปัจจุบันธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีอยู่ที่ราว 2.5 แสนล้านบาท และสินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดเล็กอยู่ที่ราว 6 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการยกเลิกค่าธรรมเนียมให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มขนาดเล็กในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียมในส่วนของกลุ่มเอสเอ็มอีหายไปอยู่ในหลักร้อยล้านบาท แต่มองว่าในอนาคตจะสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์อื่นๆ หรือสร้างรายได้จากส่วนอื่นมาชดเชยได้ แต่การทำแคมเปญครั้งนี้คือ ธนาคารต้องการช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้สามารถอยู่รอดต่อไปได้ในภาวะที่เศรษฐกิจไทย และทั่วโลกยังคงชะลอตัว รวมทั้งมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น
“การยกเลิกค่าธรรมเนียมจะส่งผลให้รายได้ค่าธรรมเนียมหายไปแน่นอน คาดว่าจะอยู่ในหลักร้อยล้านบาทแต่คงไม่ถึงพันล้านบาท ซึ่งในอนาคตน่าจะหารายได้ด้านอื่นมาชดเชยเพื่อให้เท่าทุนกับที่หายไปได้ แต่ตอนนี้เราให้ความสำคัญกับการช่วยเอสเอ็มอีเป็นหลัก อยากให้เค้าเอาตัวรอดได้ในภาวะที่ทั้งเศรษฐกิจและส่งออกชะลอตัว ถ้าเค้ายังยืนอยู่ได้ก็เป็นผลดีกับธนาคาร แต่ถ้าเอสเอ็มอีล้มไปหมดคงจะกระทบมากกว่ารายได้ค่าธรรมเนียมที่หายไป” นางอภิพันธ์ กล่าว