Phones





BAM เสริมทัพ ‘พรรณี – แมนพงศ์’ นั่งแท่นกรรมการ

2025-04-26 16:45:03 100



 
นิวส์ คอนเน็คท์ - BAM ดึง “พรรณี – แมนพงศ์” เสริมทัพกรรมการ พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจสู่เป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน เผย BAM โดดเด่นในกลุ่มหุ้นปันผลสูง มั่นใจสร้างผลกำไรอย่างต่อเนื่องแม้เศรษฐกิจผวน พร้อมช่วยลูกหนี้ให้กลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจปกติ และฟื้นฟูธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
 
เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2568 ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เปิดเผยว่า ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568ได้มีการประกาศผลประกอบการของ BAM ปี 2567 ว่ามีกำไรสุทธิ 1,602 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4% จากปี 2566 และเตรียมจ่ายเงินปันผล 0.35 บาทต่อหุ้น ขณะเดียวกันที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้มีมติแต่งตั้งนางพรรณี วรวุฒิจงสถิต ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ กรรมการกำกับกิจการเพื่อความยั่งยืน มีผลตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 2568 โดยนางพรรณี วรวุฒิจงสถิต สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท บัญชีมหาบัณฑิต คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี วิชาเอกการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นกรรมการวิชาชีพบัญชีด้านการบัญชีภาษีอากร สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีความรู้และประสบการณ์ด้านการบัญชีหรือการเงิน ซึ่งจะสร้างความน่าเชื่อถือในการสอบทานงบการเงินของ BAM ได้เป็นอย่างดี
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติแต่งตั้งนายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ กรรมการกำกับความเสี่ยง กรรมการกำกับกิจการเพื่อความยั่งยืน ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. 2568 โดยนายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท MBA ด้าน Finance and Quantitative จาก Cleveland State University ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นอดีตรองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีประสบการณ์การทำงานด้านการบริหารวาณิชธนกิจ และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินให้กับบริษัทเอกชน และสถาบันการเงิน
 
สำหรับการแต่งตั้งกรรมการครั้งนี้ นับว่าเป็นการเสริมทัพ BAM ให้มีความแข็งแกร่ง เนื่องจากเป็นผู้ที่มีคุณวุฒิและมีประสบการณ์การทำงานที่ยาวนานในระดับผู้นำองค์กรขนาดใหญ่ ถือเป็นการยกระดับการกำกับดูแลกิจการและต่อยอดวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ขององค์กร พร้อมทั้งเสริมศักยภาพให้ BAM มีความพร้อมในการดำเนินงานและบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางสภาวะการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรง
 
ทั้งนี้ BAM พร้อมเดินหน้าธุรกิจด้วยกลยุทธ์เชิงรุกในการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ถือหุ้นและนักลงทุน แม้ต้องเผชิญหน้าความท้าทายจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนด้วยปัจจัยต่างๆ อาทิ สงครามการค้าโลกยุคใหม่ (Trade War 2.0) และแนวนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุคใหม่ (Trump 2.0) โดย BAM ยังคงยืนยันนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิอย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งถือได้ว่า BAM เป็นหลักทรัพย์ที่โดดเด่นอยู่ในกลุ่มหุ้นปันผลสูง SETHD (SET High Dividend 30) พร้อมทั้งตอกย้ำบทบาทการเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ให้โอกาสลูกหนี้ NPLs ในการได้หลักประกันซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกินกลับคืนไปด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรน และมุ่งช่วยเหลือลูกหนี้รายใหญ่ รายกลาง ให้สามารถฟื้นฟูกิจการหรือสถานะทางการเงินของตน โดยปรับโครงสร้างหนี้และหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน
 
ในส่วนของการบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขายหรือ NPAs นั้น BAM ได้มีการแบ่งกลุ่มทรัพย์ ประเภทบ้าน ที่ดิน คอนโด และทรัพย์เพื่อการลงทุนนำเสนอลูกค้าตามกลุ่มเป้าหมาย (Target Segment) ด้วยช่องทางและแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่หลากหลาย พร้อมกันนี้ยังให้ความสำคัญกับการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Developers) ในการปรับปรุงและเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินรอการขาย หรือสถาบันการเงินที่จะมาปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้และลูกค้าซื้อทรัพย์ของ BAM
 
“การดำเนินกลยุทธ์เชิงรุกถือได้ว่าครอบคลุมมิติสำคัญทางธุรกิจของ BAM อีกทั้งการเสริมทัพคณะกรรมการด้วยการดึงผู้ทรงคุณวุฒิที่มีวิสัยทัศน์ และประสบการณ์ในการกำกับดูแลกิจการสมัยใหม่ ซึ่งจะทำให้ BAM สามารถก้าวไปข้างหน้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของทีมผู้บริหารและพนักงาน BAM ในการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้ง NPLs และ NPAs อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เพียงช่วยให้ BAM ยืนหยัดได้ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง แต่ยังแปรเปลี่ยนวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสในการลงทุนได้ ด้วยการนำทรัพย์สินเหล่านี้มาสร้างมูลค่าเพิ่มและผลตอบแทนที่คุ้มค่าแก่ผู้ลงทุน ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของ BAM ในฐานะผู้นำธุรกิจ AMC ที่จะช่วยพลิกฟื้นสินทรัพย์และขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน” ดร.รักษ์ กล่าว