Phones





FETCO เผยดัชนีเชื่อมั่น3เดือนหน้าลดลง14.6%

2021-05-05 15:06:19 315




นิวส์ คอนเน็คท์ - FETCO เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 124.37 ปรับตัวลดลง 14.6% อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” หวังการกระจายวัคซีน-ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทย ชี้หุ้นไทยยังเป็นขาขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ


เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 124.37 ปรับตัวลดลง 14.6% จากเดือนก่อน ยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากนักลงทุนคาดหวังแผนการกระจายวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ Covid-19 เป็นปัจจัยหนุน รวมถึงผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และสถานการณ์เศรษฐกิจจีน ขณะเดียวกัน ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของ Covid-19 ระลอกใหม่ในไทย และการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ รวมไปถึงสัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือน


ผลสำรวจ ณ เดือนเมษายน 2564 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มปรับตัวลดลง โดยความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับตัวลดลง 7% อยู่ที่ระดับ 129.27 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง 11% อยู่ที่ระดับ 137.50 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวลดลง 37% อยู่ที่ระดับ 94.44 และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับตัวลดลง 20% อยู่ที่ระดับ 120.00


ในช่วงเดือนเมษายน 2564 SET Index ผันผวนอยู่ระหว่าง 1,541.12 –1,596.27 จุด โดยได้รับแรงกดดันจากการระบาดรอบใหม่ของ Covid-19 จากกลุ่มสถานที่ท่องเที่ยวกลางคืนในกรุงเทพ และแพร่กระจายไปยังหลายจังหวัดทั่วประเทศในช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์ที่ประชาชนกลับต่างจังหวัด ซึ่งส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อ Covid-19 รายใหม่ที่เพิ่มสูงเกินกว่า 1,000 รายต่อวัน


อีกทั้งได้รับผลกระทบจากตลาดหุ้นอเมริกาที่ปรับลงอย่างหนัก จากการประกาศข้อเสนอเก็บภาษีกำไรจากการลงทุน (Capital Gains Tax) เพิ่มเกือบเท่าตัว อย่างไรก็ตาม ตลาดยังได้รับปัจจัยบวกหลังจากรัฐบาลไทยประกาศแผนการจัดหาวัคซีนทางเลือกเพิ่มขึ้น และ ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท รวมถึงมูลค่าการส่งออกของไทยเดือนมีนาคม 2564 ขยายตัวถึง 8.5% จากปีก่อน โดย ณ สิ้นเดือนเมษายน SET index ปิดที่ 1,583.13 ปรับตัวลงลง 0.26% จากเดือนก่อนหน้า



ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ความชัดเจนของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและแผนการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นภาษีนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนหลังจาก GDP จีนช่วงไตรมาสที่ 1/64 ขยายตัวมากถึง 18.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว การระบาดระลอกใหม่ที่มีการกลายพันธุ์ของไวรัส Covid-19 ในอินเดีย และการประกาศ lockdown อีกครั้งในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เยอรมัน ซี่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลก


ด้านปัจจัยในประเทศ ได้แก่ การแพร่ระบาดของ Covid-19 ระลอกใหม่ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ แผนจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมและเร่งฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเพื่มเติมเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ถูกสั่งปิดในพื้นที่ควบคุม รวมถึงผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 1/64


ทั้งนี้ประเมินภาพรวมของตลาดหุ้นไทยยังมองว่าเป็นขาขึ้น เนื่องจากยังมีแรงซื้อจากนักลงทุนเข้ามาสนับสนุนอยู่ แม้ว่าจะมีผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ รวมถึงยังคงมีแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ และปี 65 ที่จะเป็นปีที่อัตราส่วนกำไรต่อหุ้น (EPS) บริษัทจดทะเบียนไทยสามารถเติบโตได้ถึง 20% หลังจากที่สามารถเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาได้เต็มที่ แต่อย่างไรก็ตามต้องติดตามการจัดหาวัคซีนจากรัฐบาลว่าจะได้ตามเป้าหมายที่ 100 ล้านโดสหรือไม่


"ความเชื่อมั่นนักลงทุนเกือบทุกกลุ่มอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” ยกเว้นความเชื่อมั่นนักลงทุนสถาบันในประเทศอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (PETRO) หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดแฟชั่น (FASHION) ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ แผนการกระจายวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ Covid-19 ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ระบาดของ Covid-19 ระลอกใหม่" นายไพบูลย์ กล่าว

>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews