Phones





BAY ส่องกรอบเงินบาท33.15-33.50 จับตาเฟดถอนมาตรการกระตุ้นศก.

2021-08-23 18:17:01 211



 
นิวส์ คอนเน็คท์ – BAY ประเมินเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 33.15-33.50 นักลงทุนรอติดตามท่าทีของเฟดในงานสัมมนาแจ็คสันโฮล หวังเห็นท่าทีที่ชัดเจนในการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
 
เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2564 นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เปิดเผยว่า ทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.15-33.50 บาทต่อดอลลาสหรัฐฯ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าเล็กน้อยที่ 33.36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หลังซื้อขายในกรอบ 33.14-33.47 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
 
ทั้งนี้ เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจจีนและการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ Delta ในหลายภูมิภาคทั่วโลกช่วยหนุนดัชนีดอลลาร์ขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 9 เดือน ขณะที่นักลงทุนหลีกเลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยง
 
นอกจากนี้ รายงานการประชุมเดือนกรกฎาคมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) บ่งชี้ว่าจะเริ่มลดขนาดโครงการซื้อสินทรัพย์ภายในปีนี้ ทางด้านธนาคารกลางนิวซีแลนด์ตัดสินใจชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไปและรัฐบาลประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ระยะสั้นรอบใหม่ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 2,564 ล้านบาท และ 6,016 ล้านบาท ตามลำดับ
 
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนจะรอฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงินจากประธานเฟดซึ่งจะบรรยายในงานสัมมนาวิชาการ Jackson Hole Symposium ที่จะจัดขึ้นในลักษณะออนไลน์ช่วงปลายสัปดาห์ โดยตลาดจะพยายามจับสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นสำหรับจังหวะเวลาและลำดับการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคาดว่าเฟดจะแสดงท่าทีที่ระมัดระวังท่ามกลางความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดที่กลับมาเร่งตัวอีกครั้งและอาจกระทบต่อแรงส่งของการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจ ในภาวะเช่นนี้ ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอาจย่ำฐานจนกว่าจะมีความชัดเจนจากเฟด              
 
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ กระทรวงพาณิชย์รายงานยอดส่งออกเดือนกรกฎาคมขยายตัวได้ดีในอัตรา 20.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งใกล้เคียงกับที่ตลาดคาดไว้ แต่การแพร่ระบาดอาจกระทบภาคการผลิตในเดือนสิงหาคมและกันยายนเป็นต้นไป ทางด้านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่ารัฐบาลควรกู้เงินเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังประเมินว่าวิกฤติ COVID-19 จะกระทบรายได้ภาคครัวเรือนราว 2.6 ล้านล้านบาท ในช่วงปี 63-65
 
ขณะที่คาดว่าหากมีการกู้เพิ่มดังกล่าวจะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีขึ้นไปสูงสุดที่ 70% ในปี 67 ก่อนที่จะปรับลงค่อนข้างเร็วตามการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเน้นย้ำความสำคัญของมาตรการทางการคลัง ส่วนมาตรการทางการเงินมีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ และจะเป็นมาตรการเสริมในการช่วยดูแลภาระหนี้และเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ ธปท.จะดูแลไม่ให้การเคลื่อนไหวของค่าเงินเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและไม่ให้ผันผวนเกินไป
 
ทั้งนี้ คาดว่าทางการเข้าดูแลค่าเงินในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนจากทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของไทยที่ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปี