Phones





COTTO ปิดงบปี64 กำไรสุทธิ584ล้านบาท

2022-01-26 11:55:40 185



นิวส์ คอนเน็คท์ - เอสซีจี เซรามิกส์ แถลงผลประกอบการปี 64 ยอดขายโต กำไรเพิ่ม เชื่อตลาดเซรามิกฟื้นตัว มุ่งเป็นผู้นำชูสินค้าตอบโจทย์เมกะเทรนด์ ปรับกลยุทธ์เตรียมรับมือพลังงานก๊าซธรรมชาติพุ่ง


เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 นายนำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO ผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องภายใต้แบรนด์ “คอตโต้” (COTTO) โสสุโก้ (SOSUCO) และ คัมพานา (CAMPANA) เปิดเผยงบการเงินรวมก่อนตรวจสอบของ COTTO ไตรมาส 4/64 บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 2,741 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีผลกำไร 57 ล้านบาท ลดลง 31% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้มีการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านการบริหารและการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตควบคู่กันมาโดยตลอด

สำหรับผลประกอบการปี 64 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายรวม 11,194 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากปี 63 โดยมีกำไรสุทธิ 584 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 164 ล้านบาท เป็นผลจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นและจากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมหนองแค 

“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและสถานการณ์ตลาดกระเบื้องเซรามิกในปี 64 เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างภาคเอกชนได้รับผลกระทบอย่างมาก แต่ก็ถือว่าปีที่ผ่านมานั้นเป็นปีที่ทุกภาคส่วนได้เรียนรู้และมีความพร้อมในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ มากขึ้น เริ่มคุ้นชินกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้สามารถวางแผนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที ในส่วนของความต้องการสินค้ากระเบื้องเซรามิคในประเทศยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า เช่นเดียวกับสถานการณ์การแข่งขันที่ยังคงรุนแรงทั้งจากผู้ผลิตในประเทศเองและจากสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ และในปี 65 นี้ ปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาเพิ่มเติม คือ เรื่องราคาพลังงานที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลกระทบกับธุรกิจเซรามิค"


ในปี 65 คาดว่าความต้องการใช้สินค้ากระเบื้องเซรามิกโดยรวมจะยังคงใกล้เคียงกับปีที่แล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมน่าจะเติบโตและมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของภาครัฐ แต่ทั้งนี้ ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่บ้างในเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ รวมถึงปัญหาหนี้ภาครัฐบาลและหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่น่าจับตามองอย่างใกล้ชิด คือ ราคาพลังงาน ราคาน้ำมัน และราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามอัตราเงินเฟ้อ เหล่านี้อาจจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคและเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีความผันผวนจากปัจจัยภายนอกและการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่รุนแรงต่อเนื่อง คาดว่าบริษัท ฯ จะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันผ่านกลยุทธ์ต่าง ๆ ได้ โดยเน้นการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักรเพื่อบรรเทาผลกระทบจากต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น และควบคุมปริมาณสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ด้วยการปรับสัดส่วนการขายสินค้าไปยังตลาดที่ได้รับผลกระทบน้อยทั้งในและต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการปรับระดับการผลิตและการนำเข้าสินค้าให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการ