Phones





TMBรับสินเชื่อติดลบ – ปรับหมากเน้นมาร์จิ้น

2019-10-01 12:53:41 222




นิวส์ คอนเน็คท์ – TMB ปรับกลยุทธ์สินเชื่อหลังรวมกิจการ เน้นเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อรายย่อย หวังช่วยเพิ่มมาร์จิ้น พร้อมลดสัดส่วนสินเชื่อรายใหญ่ลง แต่กดดันให้ตัวเลขสินเชื่อปี 63 มีโอกาสติดลบ แย้มมีโอกาสจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นเพิ่มมากขึ้น หลัง Tier 1 สูงถึง 14% เพียงพอต่อการรองรับความเสี่ยง พร้อมพิจารณานำกำไรจากธุรกิจมาจัดสรรให้ผู้ถือหุ้น


นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB เปิดเผยว่า การดำเนินการขายหุ้นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนธนชาต (TFUND) ให้กับอีสท์สปริง อินเวสท์เมนทส์(สิงค์โปร์) ซึ่งคาดว่ามูลค่าธุรกรรมรวมไม่ต่ำกว่า 8.4 พันล้านบาท จากมูลค่าตามบัญชีที่ 400 ล้านบาท ทำให้ธนาคารมีกำไรจากการขายประมาณ 8 พันล้านบาท โดยหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วธนาคารจะมีกำไรสุทธิจากการขายรวม 4.2 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะบันทึกกำไรเข้ามาในไตรมาส 4/62


สำหรับแผนธุรกิจปี 63 เบื้องต้นธนาคารจะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างสินเชื่อใหม่ โดยจะเน้นการขยายพอร์ตสินเชื่อรายย่อยเป็นหลัก ซึ่งสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 60-70% ของพอร์ตสินเชื่อรวม จากปัจจุบันอยู่ที่ 50% ในส่วนของพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีจะลดลงมาอยู่ที่เหลือ 20% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 30% ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ธนาคารวางแผนระยะยาวจะลดสัดส่วนลงมาต่ำกว่า 20% ตามกลยุทธ์หลังควบรวมที่เน้นการให้สินเชื่อที่มีผลตอบแทนสูง และเงินฝากที่มีต้นทุนดอกเบี้ยต่ำ


ในส่วนของแผนธุรกิจด้านเงินฝากของธนาคารหลังจากการรวมกิจการ จะมีการปรับรูปแบบการออมเงินของลูกค้าด้วยการแนะนำให้ลูกค้ามีการลงทุนผ่านกองทุนรวมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นการบริหารต้นทุนเงินฝากให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ของธนาคารที่ต้องการลดสัดส่วนเงินฝากที่มีต้นทุนดอกเบี้ยสูงให้น้อยลง และนำ บลจ.มาเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าในการลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินกับธนาคาร


ขณะที่ภาพรวมสินเชื่อปี 62 ยอมรับว่าอาจเติบโตมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 3-5% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และการส่งออกที่ชะลอตัว จึงส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้สินเชื่อ ส่วนแนวโน้มสินเชื่อรวมปี 63 คาดว่า จะติดลบจากปีนี้ เนื่องจากธนาคารจะชะลอการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ เนื่องจากมีผลตอบแทนต่ำ และยังทำให้มีภาระการตั้งสำรองเงินกองทุนขั้นที่ 1(Tier1) เพิ่มขึ้น แต่ธนาคารจะเน้นการขยายสินเชื่อรายย่อยที่ให้ผลตอบแทนสูง อย่างไรก็ตาม การที่สินเชื่อรายย่อยจะมีวงเงินต่อรายที่ต่ำกว่า จึงไม่สามารถชดเชยวอลุ่มของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่ลดลงได้


สำหรับประเด็นที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยหรือนักลงทุนต้องการให้ธนาคารมีการจ่ายปันผลเพิ่มมากขึ้น หรือจ่ายปันผลพิเศษนั้น ธนาคารมองว่ามีโอกาสในการจ่ายปันผลเพิ่มขึ้นหลังการรวมกิจการ เนื่องจากปัจจุบันธนาคารมีเงินกองทุนขั้นที่ 1 สูงถึงระดับ 14% ซึ่งเพียงพอต่อการรองรับความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อรายใหญ่อย่างเหมาะสม และทำให้ความจำเป็นในการเพิ่มเงินกองทุนลดน้อยลง โดยธนาคารสามารถนำกำไรจากการดำเนินงานมาจัดสรรเป็นผลตอบแทนคืนให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างเต็มที่