Phones





ไทยรุกยื่นเจรจาสหรัฐขอคืนสิทธิ์GSP

2019-10-28 15:07:19 676




นิวส์ คอนเน็คท์ - ไทยเตรียมยื่นขอเจรจาสหรัฐคืนสิทธิ์ GSP ให้เร็วที่สุด หลังมะกันประกาศระงับสิทธิ GSP ไทยบางส่วนชั่วคราว อ้างไทยไม่คุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากล ชี้สินค้าไทยยังส่งออกได้ แต่ต้องจ่ายภาษีสูงขึ้นแค่เพียง 1.5-1.8 พันล้านบาท ไม่ใช่กระทบ 4 หมื่นล้านบาท


เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2562 นายกีรติ รัชโน ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตามที่สมาพันธ์แรงงานและสภาอุตสาหกรรมแรงงานสหรัฐฯ (American Federation Labor & Congress of Industrial Organization: AFL-CIO) ได้ยื่นคำร้องให้ตัดสิทธิ GSP ไทยเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2556 และวันที่ 16 ตุลาคม 2558 เนื่องจากเห็นว่าไทยมิได้คุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานระหว่างประเทศนั้น ภาครัฐคงต้องดำเนินการเจรจาขอคืนสิทธิฯ โดยเร็วที่สุด โดยคาดว่าจะยื่นขอเจรจากับสหรัฐฯ หลังช่วงการประชุม East Asia Summit ภายใต้การประชุมสุดยอดอาเซียนในประเทศไทยที่กำหนดจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ รวมทั้งเจรจาภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ (Trade and Investment Framework Agreement Joint Council : TIFA-JC) ต่อไป


อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาไทยได้ดำเนินการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องสหรัฐฯ และมาตรฐานองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) แต่สหรัฐฯ มองว่าไทยยังไม่สามารถดำเนินการตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ส่งผลให้เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกแถลงการณ์ประธานาธิบดี (President Proclamation) ระงับสิทธิพิเศษทางการค้าภายใต้ระบบสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences: GSP) ที่ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าจากประเทศ โดยจะระงับการให้สิทธิ GSP เป็นการชั่วคราว สำหรับสินค้านำเข้าจากไทย จำนวน 573 รายการ มีผลบังคับ 6 เดือนนับจากการประกาศแถลงการณ์นี้ หรือในวันที่ 25 เมษายน 2563


"การประกาศตัดสิทธิ์ GSP ครั้งนี้ ขอย้ำว่า เป็นการตัดสิทธิ์บางส่วนและแค่ชั่วคราวเท่านั้น โดยจะมีผลบังคับใช้อีก 6 เดือนหลังจากนี้ ซึ่งเรายังมีเวลาในการเจรจาเพื่อขอคืนสิทธิ์ ซึ่งเราต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติให้มากที่สุด" นายกีรติ กล่าว


โดยหลักการแล้วสหรัฐฯ จะมีหลักในการทบทวนพิจารณา GSP กับประเทศผู้ที่ได้รับสิทธิฯ อาทิ ระดับการพัฒนาประเทศ (รายได้ประชาชาติต่อหัวไม่เกิน 12,055 เหรียญสหรัฐฯ) การเปิดตลาดสินค้าและบริการ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิแรงงาน การกำหนดนโยบายลงทุนที่ชัดเจน และการสนับสนุนสหรัฐฯ ในการต่อต้านการก่อการร้าย รวมถึงการกำหนดมูลค่าการนำเข้าไม่เกินกฎว่าด้วยความจำเป็นด้านการแข่งขัน (Competitive need limitations : CNLs) โดยถือว่าสินค้านั้นมีความสามารถแข่งขันสูงในตลาดสหรัฐฯ และไม่จำเป็นต้องได้รับสิทธิ GSP ซึ่งกำหนดไว้ 2 กรณี คือ 1) มูลค่านำเข้าสหรัฐฯเกินมูลค่าขั้นสูงที่สหรัฐฯ กำหนดไว้ในแต่ละปี โดยในปี 2561 กำหนดไว้ที่ 185 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (โดยให้เพิ่มขึ้นทุกปีๆ ละ 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และ 2) ส่วนแบ่งตลาดนำเข้าจากสหรัฐฯ เกินร้อยละ 50 แต่มูลค่านำเข้าสหรัฐฯ ของสินค้าดังกล่าวต่ำกว่ามูลค่าขั้นต่ำ (De Minimis Value) ที่สหรัฐฯ กำหนด ซึ่งในปี 2561 เท่ากับ 24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ


ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาสิทธิพิเศษทางการค้า GSP มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งจากประเทศที่สหรัฐฯให้สิทธิ GSP ทั้งหมด 119 ประเทศ ขยับขึ้นมาแทนอินเดียที่ถูกตัดสิทธิ GSP ไปเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา จากการระงับสิทธิ GSP ทั้ง 573 รายการ ไม่ได้หมายความว่า ไทยจะไม่สามารถส่งออกสินค้าดังกล่าวไปสหรัฐฯหรือสูญเสียมูลค่าที่ได้รับสิทธิ GSP ประมาณ 40,000 ล้านบาท ไทยยังคงส่งออกไปได้ตามปกติเพียงต้องเสียภาษีในอัตราปกติ (MFN Rate) เฉลี่ยประมาณร้อยละ 4.5 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณไม่เกิน 1,800 ล้านบาท สินค้าสำคัญที่ถูกระงับสิทธิ GSP ได้แก่ มอเตอร์ไซค์ แว่นสายตา เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติกและของทำด้วยพลาสติก อาหารปรุงแต่ง เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์ที่ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า ทองแดง ผลิตภัณฑ์เซรามิก เครื่องประดับ โดยกลุ่มสินค้าที่ถูกเก็บภาษีอัตราสูงสุดคือ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและเครื่องครัวเซรามิก (ร้อยละ 26) และอัตราต่ำสุดคือเคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 0.1)


#กรมการค้าต่างประเทศ
#กีรติรัชโน
#สหรัฐตัดสิทธิ์GSP