Phones





มช.ผนึกสกสว.ต่อยอดบล็อกเชนเพื่อการแพทย์

2020-06-01 14:05:56 481




นิวส์ คอนเน็คท์ - คณะแพทยศาสตร์ มช. ผนึก สกสว. ยกระดับสู่การพัฒนาด้านบริการใช้เทคโนโลยี บล็อกเชน พัฒนาระบบต้นแบบทางสุขภาพและการแพทย์ นำร่อง รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ก่อนขยายสู่ รพ.เครือข่าย


นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เปิดเผยว่า ระบบบล็อกเชน (Blockchain) ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในวงการแพทย์ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีหลายระบบที่นำมาใช้ในวงการแพทย์ก็ตาม ซึ่งระบบใหม่นี้สอดคล้องกับการเร่งผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ยุคเทคโนโลยีไทยแลนด์ 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล ประการสำคัญ จ.เชียงใหม่ได้รับการจัดให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart city) จึงต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้านต่างๆ ประกอบกับเทคโนโลยี “บล็อกเชน” เพื่อวงการแพทย์ยังไม่มีแพร่หลายจึงน่าจะเป็นโอกาสดีที่จะนำมาให้บริการเพื่อผู้ป่วยจะได้รับความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยยิ่งขึ้นหากแพทย์ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็ว



สำหรับระบบต้นแบบ “บล็อกเชน” ผ่าน Thai Cleft Link Program ของ “ศูนย์แก้ไขความพิการบริเวณใบหน้า และศีรษะ” มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU Craniofacial Center) โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และเครือข่ายโรงพยาบาล เป็นโครงการ “การศึกษาเครื่องมือและกระบวนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ การสนับสนุนภายใต้แผนงานการพัฒนาภูมิภาคและจังหวัด 4.0 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.)” วัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการศึกษาเครื่องมือและกระบวนการในการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะ


ส่วนระบบทางด้านสุขภาพและการแพทย์ “บล็อกเชน” สามารถช่วยในการแชร์ข้อมูลของโรงพยาบาลเครือข่าย รวมถึงการใช้งานการติดตามข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วยซึ่งเป็นฟังก์ชั่นการเชื่อมต่อข้อมูลข้ามแพลตฟอร์มฟังก์ชันการรักษาความปลอดภัยของความเป็นส่วนตัวของข้อมูล สามารถขยายเครือข่ายผ่านระบบบล็อกเชนไปสู่วงกว้างมากขึ้น มีประโยชน์สามารถจัดเก็บข้อมูลอย่างดีด้วยระบบบล็อกเชน



อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการทดลองระบบพบว่ามีอุปสรรคอยู่บ้างเล็กน้อย จึงเร่งยกระดับเพื่อให้สามารถขยายสู่โรงพยาบาลเครือข่ายเพื่อมอบสิ่งที่ดีด้านสุขภาพพร้อมดูแลความปลอดภัยของข้อมูลผู้ป่วยทุกคน ซึ่งหากทำสำเร็จก็จะสามารถต่อยอดไปสู่โรคอื่นๆ ผลดีคือเกิดความร่วมมือของโรงพยาบาลเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ผลการรักษาผู้ป่วยดีขึ้น รวดเร็วขึ้น ประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่าย สามารถติดตามผลการรักษาได้ทันที