Phones





กกร.หนุนเจรจาCPTPP – สะกิดธปท.เร่งอนุมัติซอฟท์โลน

2020-06-10 17:23:44 209




นิวส์ คอนเน็คท์ - กกร. ส่องตัวชี้วัดเศรษฐกิจไทยเดือน เม.ย.หดตัวทุกด้าน หลังกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักหลังการดำเนินมาตรการล็อคดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ยังหวังเศรษฐกิจไทยปีนี้ติดลบในกรอบ 3-5% พร้อมส่งสัญญาณไปธปท.ปลดล็อคซอฟท์โลน หลังอนุมัติเงินกู้ล่าช้า แนะให้ บสย. ช่วยค้ำประกัน


เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563 นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กรร. ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยเดือนเม.ย. 63 หดตัวในทุกเครื่องชี้วัด ทั้งการส่งออก การผลิต การบริโภคและการลงทุน โดยมีเพียงการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวเท่านั้น เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ จากการระบาดของไวรัสโควิด-19  


ทั้งนี้ กกร.มองว่า เศรษฐกิจไทยในปี 63 จะหดตัวในกรอบติดลบ 3-5% และการส่งออกอาจติดลบ 5-10% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในกรอบ -1.5% ถึง 0% แม้ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 ในไทยจะดีขึ้นจนภาครัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และทำให้กิจการต่างๆกลับมาเปิดดำเนินการตั้งแต่เดือนพ.ค.63 รวมทั้งมีมาตรการเยียวยาเพื่อบรรเทาผลกระทบหลายด้าน ซึ่งทำให้เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว  


อย่างไรก็ตาม จากการที่กำลังซื้อภาคครัวเรือนยังคงอ่อนแอ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะถดถอย และยังมีความเสี่ยงจากสงครามการค้ารอบใหม่ระหว่างสหรัฐฯ และ จีน จึงทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และภาคธุรกิจไทย จะยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ และต้องใช้เวลาอีกพอสมควร ดังนั้น สถานการณ์การว่างงานในประเทศจึงยังอยู่ในภาวะที่น่ากังวล ซึ่งที่ประชุมกกร. เห็นว่าภาครัฐควรเร่งขับเคลื่อนแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ และ สังคมโดยเร็ว โดยเน้นโครงการที่เพิ่มเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจฐานราก และ ฟื้นฟูธุรกิจท้องถิ่นเพื่อสร้างงานครอบคลุมทั่วประเทศ  


นอกจากนี้ กกร. มองว่า การเร่งผลักดันการใช้วงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(Soft Loan) ภายใต้พระราชกำหนด 5 แสนล้านบาท ให้มีความคืบหน้าอย่างรวดเร็วจะมีส่วนสนับสนุนภาคธุรกิจเอกชน โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีให้สามารถประคองกิจการต่อไปได้ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก จึงเห็นว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันหารือ และ บริหารจัดการให้เงื่อนไขต่างๆของการปล่อยสินเชื่อในทางปฏิบัติมีความคล่องตัวมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เช่น อาจให้บสย. เข้ามาช่วยค้ำประกันสินเชื่อเพิ่มเติม หลังสิ้นสุดโครงการ 2 ปี ตามพ.ร.ก. (โครงการ PGS-9) โดยปัจจุบันวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(Soft Loan) ภายใต้พระราชกำหนด 5 แสนล้านบาท มีการเบิกใช้สินเชื่อไปแล้ว 75,000 ล้านบาท  


ขณะที่กกร.มีข้อสรุปในเรื่องข้อตกลง CPTPP โดยเห็นควรสนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าร่วมเจรจากับกลุ่มประเทศภายใต้ข้อตกลง CPTPP ในเดือนส.ค. 63 เนื่องจากการเข้าร่วมเจรจาทำให้เห็นถึงผลดีและผลเสียจากการเข้าร่วมเป็นประเทศภาคีตามข้อตกลง CPTPP ซึ่งกระบวนการเข้าร่วมเป็นประเทศภาคีนั้น มีขั้นตอนลำดับขั้น ประกอบด้วย การขอเข้าร่วมเจรจา การเข้าร่วมเจรจากับประเทศภาคี หลังจากนั้นต้องนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งขณะเดียวกันต้องเปิดรับฟังประชาพิจารณ์ด้วย และขั้นตอนสุดท้ายคือการเสนอให้รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบ โดยต้องใช้เวลาในทุกกระบวนการอย่างน้อย 4 ปี และประเทศไทยสามารถยุติการเจรจาในทุกขั้นตอนได้ หากเห็นว่าไม่ได้ประโยชน์  


ทั้งนี้ กกร.เห็นว่าการเข้าร่วมเจรจาจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย เพื่อให้ทราบถึงข้อตกลง และ เป็นประโยชน์สำหรับการปรับตัวของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ได้ในเวทีโลก โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม ASEAN


ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า มาตรการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ที่ผ่านมาพบว่า มีความล่าช้าจากการปล่อยกู้ของธนาคาร จึงต้องการให้ภาครัฐ หรือธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาค้ำประกันต่อ หลังสิ้นสุดโครงการ 2 ปี เพราะหากจบ 2 ปีจะให้คืนเงินนั้นเป็นสิ่งที่ยากมากในภาวะสถานการณ์ปัจจุบัน


 


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews