Phones





BANPU ลุยขยายพอร์ตพลังงานสะอาด-เทคโนโลยีพลังงาน

2020-09-08 13:44:23 798




นิวส์ คอนเน็คท์ – BANPU เดินหน้าขยายพอร์ตธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานเต็มรูปแบบ รุก 6 กลุ่มธุรกิจ วางเป้าสัดส่วน EBITDA เพิ่มเป็น 20% และกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 1,600 เมกะวัตต์ในปี 68


นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ผู้นำธุรกิจพลังงานแบบครบวงจรแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เปิดเผยว่า ในช่วงปี 63 – 64 จะเน้นขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงาน (Smart Energy Solutions for Next Generations) ภายใต้กลยุทธ์ของบ้านปูฯ Greener & Smarter ผ่าน 6 กลุ่มธุรกิจที่อยู่ภายใต้บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด หรือ BANPU NEXT ภายใต้กลยุทธ์ของบ้านปูฯ Greener & Smarter ได้แก่


ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ (Renewable Energy Power Plant) ให้บริการวางระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ได้แก่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดิน หรือ โซลาร์ฟาร์ม และโรงไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม ซึ่งในกลุ่มยังคงมองหาโอกาสขยายการลงทุนต่อเนื่องในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น จีน เวียดนาม ออสเตรเลีย ไตหวัน ปัจจุบันมีกำลังการผลิตที่เป็นโซลาร์ฟาร์ม และพลังงานลมราว 642 เมกะวัตต์ โดยในจำนวนนี้รวมโรงไฟฟ้าพลังงานลมเอลวินหมุยหยิน (El Wind Mui Dinh) ขนาดกำลังการผลิต 37.6 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลมซอกจาง เฟสที่ 1 ขนาดกำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ ที่เวียดนาม แล้ว

ธุรกิจระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสำหรับลูกค้ารายย่อย (Renewable Energy Microgeneration Systems) ให้บริการวางระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือโซลาร์รูฟท็อป โดยกลุ่มเป้าหมายหลักๆ ก็จะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม โรงเรียน โรงพยาบาลห้างสรรพสินค้า มหาวิทยาลัย เป็นต้น โดยให้บริการครอบคลุมตั้งแต่การสำรวจพื้นที่ การออกแบบระบบ การเข้าติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และสมาร์ทซิตี้โซลูชัน ด้วยเทคโนโลยีพลังงานสะอาดขั้นสูงและทันสมัยแบบครบวงจร โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ราว 172 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังมีแผนลงทุนติดตั้งระบบโซลาร์รูฟ ท็อป พร้อมด้วยระบบสมาร์ทโซลูชั่นให้กับเทศบาลขอนแก่น เทศบาลแสนสุข และเทศบาลภูเก็ต โดยในส่วนของเทศบาลขอนแก่น เทศบาลแสนสุขนั้นคาดว่าจะมีความชัดเจนเรื่องรูปแบบการลงทุนภายในปีนี้


อย่างไรก็ตาม หากรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เป็นพลังงานหมุนเวียน และโซลาร์รูฟ ท็อป ของบ้านปู เน็กซ์ฯ จะมีกำลังการผลิตติดตั้งในมือราว 814 เมกะวัตต์ และตั้งเป้าหมายมีกำลังการผลิตรวมเพิ่มเป็น 1,600 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโซลาร์รูฟ ท็อป 500 เมกะวัตต์ ในปี 68

ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle หรือ EV) ให้บริการยานยนต์ไฟฟ้าและขนส่งแบบครบวงจร โดยนำเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ และเทคโนโลยีดิจิทัลมาผสานเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการมอบบริการหลังการขาย ซึ่งปัจจุบันให้บริการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ามูฟมี (Muv mi) ตามสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสกว่า 10 สถานี และมีรถ 100 คัน ตั้งเป้าหมายในปี 64-65 จะมีรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าเพิ่มเป็น 1,000 คัน และในปี 68 เพิ่มเป็น 5,000 คัน รองรับการให้บริการตามสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสเพิ่มซึ่งในอนาคตคาดว่าจะมีสถานีรถไฟฟ้าเพิ่มเป็น 250 สถานี ซีงทางบ้านปู เน็กซ์ จะเลือกสถานีใหญ่ๆ เพื่อเพิ่มจุดการให้บริการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าผ่านระบบแอพพลิเคชั่นมูฟมี นอกจากนี้ ยังได้ให้บริการเช่ารถยนต์ไฟฟ้า FOMM ผ่านแอพพลิเคชั่นฮอปคาร์อีกด้วย ปัจจุบันมีรถให้บริการอยู่ราว 50 คันสิ้นปีนี้คาดว่าจะมีเพิ่มเป็น 100 คัน โดยคิดค่าบริหารเช่าคันละ 7,000 บาทต่อเดือน กลุ่มเป้าหมายจะเป็น โรงพยาบาล โรงเรียน โรงแรม เป็นต้น


ส่วนเรือยานยนต์ไฟฟ้าบ้านปูเน็กซ์ อีเฟอร์รี่ นพมัลลี (BanpuNext e-Ferry) ปัจจุบันเปิดตัวไปแล้ว 1 ลำบรรจุคนได้ 90 คน ลงทุน 36 ล้านบาท เพื่อวิ่งให้บริการเป็นเรือสำหรับท่องเที่ยวในจ.ภูเก็ต คาดว่าจะสามารถให้บริการได้ประมาณช่วงต้นเดือน ต.ค. 63 และในปี 64 จะรับมอบเพิ่มอีก 1 ลำจากบริษัท สกุลฎ์ซี จำกัด อย่างไรก็ตามในอนาคตบริษัทฯ มองถึงศักยภาพว่ามีโอกาสขยายให้บริการได้ถึง 200 ลำสำหรับให้บริการเป็นเรือท่องเที่ยวในภูเก็ต จากปัจจุบันมีผู้ประกอบการเรือใน จ.ภูเก็ตราว 20 ราย จำนวนเรือที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันราว 2,000 ลำก็มีโอกาสที่จะเปลี่ยนเป็นเรื่อยานยนต์ไฟฟ้าได้


ธุรกิจเอนเนอร์จี เทคโนโลยี แอ็กเซสซอรี่ (Energy Technology Accessories) นำเสนอโซลูชันด้านเทคโนโลยีพลังงานล้ำสมัย สำหรับเป็นทางเลือกในการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และสร้าง Ecosystem ด้านการใช้พลังงานสะอาดที่ครบวงจร และมีประสิทธิภาพสูงสุดให้แก่ลูกค้า อาทิ สมาร์ทโพล (Smart Pole) โซลาร์คีออส (Solar Kiosk) และสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Stations) โดยสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าเบื้องต้นจะติดตั้งไว้รองรับยานยนต์ไฟฟ้าของบริษัทฯ ซึ่งจะเห็นการเติบโตไปควบคู่กับธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าของบ้านปู เน็กซ์


นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System หรือ ESS) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนาเพื่อให้บริการระบบจัดเก็บพลังงาน เพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลาย เช่น การใช้งานร่วมกับระบบโซลาร์เพื่อเป็นแหล่งสำรองไฟฟ้า การใช้งานสำหรับระบบสมาร์ทกริด หรือ ไมโครกริด เพื่อช่วยในการบริหารจัดการได้ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการดำเนินธุรกิจบริหารจัดการระบบการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพ (Energy Efficiency หรือ EE) ให้คำปรึกษาด้านการจัดการระบบการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมตรวจสอบ และวิเคราะห์แนวทางในการลดต้นทุนด้านการใช้พลังงาน


ทั้งนี้ จากการขยายธุรกิจของบ้านปู เน็กซ์นั้น มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบ้านปู เน็กซ์ เป็น 20% ในปี 68 จากปี 63 อยู่ในระดับ 5% ส่วนธุรกิจถ่านหินจะเหลือ 40% จากปัจจุบันอยู่ที่ 70% ธุรกิจก๊าซธรรมชาติเพิ่มเป็น 10% จากปัจจุบัน 5% ส่วนโรงไฟฟ้าที่เป็นเชื้องเพลิงถ่านหิน ของบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP จะยังคงอยู่ในระดับ 30% เท่าเดิม


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews