Phones





TOP ไตรมาส3พลิกกำไร715ล้านบาท

2020-11-07 19:48:06 312




นิวส์ คอนเน็คท์ - TOP โชว์ผลงานไตรมาส 3/63 พลิกเป็นกำไร 715 ล้านบาท รับปัจจัยหนุนจากกำไรสต๊อกน้ำมัน บันทึกกลับรายการมูลค่าสินค้าคงเหลือน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป


เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 3/63 บริษัทมีกำไรสุทธิ 715 ล้านบาท พลิกเป็นกำไร เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีขาดทุนสุทธิ 683 ล้านบาท เนื่องจากมีผลกำไรจากสต๊อกน้ำมันก่อนภาษี 2,986 ล้านบาท และบันทึกกลับรายการมูลค่าสินค้าคงเหลือน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูปก่อนภาษี 378 ล้านบาท โดยในไตรมาส 3/63 บริษัทมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มรวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมัน (Accounting GIM) อยู่ที่ 4.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และด้วยปริมาณวัตถุดิบที่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตของกลุ่มอยู่ที่ 261 พันบาร์เรลต่อวัน ทำให้มีรายได้จากการขายจำนวน 57,225 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ 82,329 ล้านบาท


ส่วนแนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมในไตรมาส 4/63 ภาวะตลาดน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 4/63 มีแนวโน้มทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/63 หลังอุปสงค์ภาคการเดินทางและภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น เนื่องจากรัฐบาลของหลายประเทศเริ่มผ่อนปรนมาตรการปิดเมือง เพื่อต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยจากรายงาน IEA ฉบับเดือนต.ค. 63 คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันใน ไตรมาส 4/63 อยู่ที่ระดับ 96.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/63 ที่ระดับ 93.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำมันยังคงมีความเสี่ยงเนื่องจากการติดไวรัสโควิด-19 ในทวีปยุโรปและอเมริกายังอยู่ในระดับสูง ทำให้รัฐบาลในบางประเทศออกมาตรการความเข้มงวดทางสังคมเพิ่มมากขึ้น


ทั้งนี้ ผู้ผลิตกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรยังคงดำเนินนโยบายการปรับลดกำลังการผลิตที่ระดับ 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงเดือนส.ค.-ธ.ค. 63 เพื่อช่วยพยุงราคา อย่างไรก็ตาม อุปทานน้ำมันดิบคงคลังทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับสูง และคาดการณ์ว่ากำลังการผลิตจากสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 4/63 ไปอยู่ที่ระดับ 11.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 0.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน


ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในปี 64 มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 63 ตามความต้องการใช้น้ำมันที่ปรับตัวดีขึ้นหลังตลาดคาดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มคลี่คลาย และกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งจากรายงาน IEA ฉบับเดือนต.ค.53 คาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันในปี 64 จะอยู่ที่ระดับ 97.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 63 ที่ระดับ 91.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน


ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจโลกปี 64 คาดว่าจะฟื้นตัวทั้งจากภาคธุรกิจและภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างหนักในปี 63 อย่างไรก็ตาม ราคายังถูกกดดันจากอุปทานน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรมีแผนปรับลดกำลังการผลิตน้อยลงจากระดับ 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนส.ค.-ธ.ค. 63 มาอยู่ที่ระดับ 5.8 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 64


ด้านภาพรวมธุรกิจการกลั่นในไตรมาส 4/63 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/63 เนื่องจากได้แรงหนุนจากประกาศอย่างเป็นทางการของน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง หรือ Official Selling Prics (OSP) ที่ปรับลดลง ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปเริ่มฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย หลังหลายประเทศทั่วโลกผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง และผ่อนปรนมาตรการเข้มงวดในการเดินทาง และการทำกิจกรรมของประชาชน


ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันก๊าดปรับตัวสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว และอุปสงค์ของน้ำมันอากาศยานเริ่มฟื้นตัวจากสายการบินในประเทศที่กลับมาให้บริการเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามตลาดยังคงถูกกดดันจากปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังทั่วโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลัง ซึ่งอาจส่งผลกดดันส่วนต่างราคาระหว่างน้ำมันดีเซลกับดูไบให้ยังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ตลาดยังคงกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 2 ที่อาจกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันอีกครั้ง ในส่วนของตลาดน้ำมันเตากำมะถันสูง ยังมีแนวโน้มอ่อนตัวลง หลังความต้องการใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อนในภูมิภาคตะวันออกกลางสิ้นสุดลง


สำหรับในปี 64 คาดว่าธุรกิจการกลั่นจะได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย รวมถึงผลบวกจากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก ที่ส่งเสริมการลงทุน และเพิ่มอัตราการจ้างงาน ซึ่งช่วยสนับสนุนความต้องการใช้น้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซลสำหรับภาคอุตสาหกรรม และการขนส่ง ฟื้นตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ส่วนต่างราคาน้ำมันอากาศยาน กับน้ำมันดิบดูไบยังมีแนวโน้มถูกกดดันต่อเนื่อง แม้ว่าการเดินทางโดยสายการบินภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว แต่คาดว่าการเดินทางโดยเที่ยวบินระหว่างประเทศจะยังมีอยู่จำกัด และยังไม่สามารถกลับมาอยู่ที่ระดับเดิมก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 ได้ภายในสิ้นปี 64


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews