Phones





KBANKแนะภาครัฐเตรียมรับมือ4โจทย์ใหญ่

2021-06-10 17:53:24 324



 
นิวส์ คอนเน็คท์ – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 64 ขยายตัว 1.8% หวังภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนในวงกว้างจะช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาส 4/64 ขณะที่ปัญหาหนี้สาธารณะ ต้นทุนผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้น และหนี้ภาครัวเรือน เป็นโจทย์สำคัญที่ภาครัฐควรเตรียมรับมือ
 
เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564 นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 64 ยังประเมินว่าจะขยายตัวที่ระดับ 1.8% ภายใต้สมมติฐานว่าการระบาดของโควิด-19 รอบ3 จะคลี่คลายภายในเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจดังกล่าวได้รวมผลบวกจากการส่งออกที่ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงมาตรการภาครัฐที่กำลังจะทยอยออกมาทั้งโครงการคนละครึ่งเฟส 3 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้
 
ขณะที่การเร่งกระจายการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในวงกว้างคาดว่าจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นในเดือนมิ.ย. – ก.ค.นี้ ซึ่งหากภาครัฐสามารถเร่งฉีดวัคซีนได้ในปริมาณที่มากพอกับการสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ จะช่วยให้ภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/64 มีทิศทางที่เร่งตัวขึ้นอย่างมาก และจะเป็นปัจจัยบวกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 64 และปี 65
 
อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าภาครัฐต้องเตรียมรับมือกับ 4 โจทย์สำคัญ ได้แก่ ภาระทางการคลัง เงินเฟ้อ หนี้ครัวเรือน และ ต้นทุนธุรกิจที่กำลังเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยในระยะสั้นการขาดดุลการคลังที่เพิ่มขึ้น และการขยายเพดานหนี้สาธารณะอาจจะยังไม่เป็นประเด็นสำคัญนัก โดยคาดว่าจะเห็นระดับหนี้สาธารณะสูงกว่าระดับ 60% ภายในปี 65 แต่ในระยะกลาง หากยังมีการขาดดุลการคลังในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง อาจจะนำมาสู่ประเด็นความเชื่อมั่นทางภาคการคลังของไทย
 
ด้านนางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า โจทย์เรื่องหนี้ภาคครัวเรือนถือเป็นประเด็นสำคัญ โดยสถานการณ์หนี้รายย่อยเริ่มถดถอยลง โดยมีกลุ่มเปราะบางที่เผชิญทั้งปัญหารายได้ลดลง แต่ค่าใช้จ่ายไม่ได้ลดลงตามรายได้ รวมทั้งภาระหนี้สูงเกินกว่า 50% ต่อรายได้ เพิ่มขึ้นจาก 10.8% ในโควิดรอบ 2 มาอยู่ที่ระดับ 22.1% ซึ่งปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น และมีโอกาสเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 90% ต่อจีดีพีภายในปี 64 จะมีผลให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องกลับมาดูแลอย่างจริงจัง หลังผ่านโควิดรอบนี้ 
 
นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า ปรับขึ้นของต้นทุนหรือราคาสินค้าที่มีผลซ้ำเติมต่อผู้ประกอบการธุรกิจ โดยเฉพาะการส่งผลกระทบต่อธุรกิจซื้อมาขายไปในยามไม่ปกติที่โควิดฉุดกำลังซื้อและตลาดมีการแข่งขันสูง ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี โดยประเมินเบื้องต้นว่า ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น 1% จะกระทบค้าปลีก SMEs ประมาณ 23,600 - 23,800 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขที่ผู้ประกอบการเผชิญข้อจำกัดในการผลักภาระไปให้กับผู้บริโภค

 
ขณะที่มาตรการรัฐมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ในทางตรงข้าม หากเศรษฐกิจดี ปัญหา หรือ ผลกระทบนี้คงมีขนาดที่ลดลง ทั้งนี้ ต้องติดตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคหลังจากนี้ ซึ่งจะมีผลต่อเส้นทางการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีกในช่วงที่เหลือของปี